X
แพลงก์ตอนบลูม ทะเลเปลี่ยนสีที่ไม่ใช่เรื่องสวยงาม

แพลงก์ตอนบลูม ทะเลเปลี่ยนสีที่ไม่ใช่เรื่องสวยงาม

8 ก.ย. 2566
350 views
ขนาดตัวอักษร

ช่วงนี้เรามักจะได้เห็นข่าวกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทะเลเปลี่ยนสี หรือ  “แพลงก์ตอนบลูม” ล่าสุดเองก็ส่งผลทบให้เกิดปลาเกยตื้นตายจำนวนมากที่ชลบุรี เราเลยขอพาไปรู้จักปรากฏการณ์นี้กันว่าคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง


ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (Red Tide) หรือ หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “แพลงก์ตอนบลูม” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทะเลทั่วทุกมุมโลก สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของสาหร่ายเซลล์เดียวจำพวก “แพลงก์ตอนพืช” ในทะเลแถบนั้น การที่จำนวนประชากรของแพลงก์ตอนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากนี้ ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี โดยปกติแล้วจะเป็นสีแดงหรือสีเขียว และบางทีอาจจะเป็นสีม่วงหรือสีชมพูก็ได้ 


การเกิดแพลงก์ตอนบลูมก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ มีฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงทำให้มีปริมาณธาตุอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแพลงก์ตอน หรือ การเกิดน้ำผุด (up welling) เป็นขบวนการที่น้ำเบื้องล่างถูกพัดพาขึ้นมาเบื้องบน เนื่องจากกระแสลมพัดเอามวลน้ำที่ผิวบริเวณชายฝั่งออกสู่ทะเลมวลน้ำที่อยู่ระดับลึกจะไหลเข้าสู่ฝั่งแล้ววกสู่ผิวน้ำแทนที่มวลน้ำที่พัดออกไปซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแพลงก์ตอน เพราะเป็นการนำธาตุอาหารจากพื้นน้ำเข้ามาสู่ผิวน้ำ ทำให้แพลงก์ตอนได้ใช้ จึงมีการเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอนมากขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูม คือ

1. ทำความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะปลา หน้าดินและสัตว์น้ำหน้าดิน

2. เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ ร้ายแรงสุดถึงขั้นเป็นอัมพาต

3. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการประมง กล่าวคือ สัตว์น้ำที่จับได้ในบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำหากมีการปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐาน

4. ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเมื่อแพลงก์ตอนตายแล้วถูกพัดเข้าฝั่งจะมีกลิ่นคาว สีและกลิ่นทำให้ทัศนียภาพชายหาดเสื่อมโทรม และนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำอาจเกิดอาการคันและระคายเคือง


ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ การที่ปลาเกยตื้นตาย มาจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ที่จะทำน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวปี๋ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงจนออกซิเจนในน้ำเหลือไม่พอให้ปลาหายใจ โดยแพลงก์ตอนบลูมจะหมดไปเมื่อเข้าหน้าหนาว ทว่า…มันจะกลับมาใหม่ในหน้าฝนปีหน้า และอาจมากขึ้นถี่ขึ้น

ปรากฎการณ์นี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ทางออกจึงไม่ง่าย แต่เรายังพอทำอะไรได้บ้าง

1. เร่งสนับสนุนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางเตือนภัย/แก้ไขระยะสั้นกลางยาว จำแนกผลกระทบที่ซับซ้อนในพื้นที่

2. ยกระดับประเด็นปัญหา ตั้งคณะอะไรสักอย่างมารับมือผลักดันโดยอิงกับหลักวิชาการ เพราะความรุนแรงไม่เหมือนก่อน มันเกินกว่ากลไกปรกติจะทำงานไหว

3. ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ช่วยผลักดันและสนับสนุนนโยบาย/งบประมาณ เพราะความเดือดร้อนมันจริงจังและรุนแรง


ขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ,กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)