X
ตาขี้เกียจ.. ภัยร้ายลูกน้อย รักษาช้าเสี่ยงตาบอด

ตาขี้เกียจ.. ภัยร้ายลูกน้อย รักษาช้าเสี่ยงตาบอด

24 ต.ค. 2565
570 views
ขนาดตัวอักษร

ตาขี้เกียจ amblyopia หมายถึง ความสามารถในการมองเห็นลดลงข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ซึ่งแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น โดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ หรือตรวจตาแล้วปกติ ภาษาอังกฤษ เรียก “Lazy eye” ภาษาไทย เรียกว่าตาขี้เกียจตาขี้เกียจนี้ เกิดขึ้นได้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6-7 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีอาการตามัวอย่างถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นตา ทานยา หยอดยา การผ่าตัด หรือการทำเลสิก 

สาเหตุของตาขี้เกียจ

- โรคตาเหล่ เป็นชนิดที่พบบ่อยมักเป็นตาข้างเดียว พบได้ในเด็กที่มีภาวะตาเหล่เข้า แล้วเหล่ออก เมื่อเด็กตาเหล่ มีการใช้ตามองภาพ จะสามารถใช้ตาข้างที่ตรงมองภาพได้ชัด ส่วนตาข้างที่เหล่ จะไม่สามารถรับภาพ และส่งไปแปลผลที่สมองได้ จึงทำให้ตาข้างที่เหล่ ไม่ได้รับการพัฒนาทางการมองเหมือนกับดวงตาอีกข้าง

- สายตาสองข้างไม่เท่ากัน เป็นได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงไม่เท่ากัน เช่น สายตาข้างหนึ่งสั้นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง ภาวะเช่นนี้ มักใช้ตาข้างที่มองเห็นได้ชัดกว่า ส่วนอีกข้าง จะถูกใช้งานน้อย หรือไม่ได้ใช้งานเลย ทำให้ตาข้างนั้น ไม่ได้รับการกระตุ้น ส่งผลให้ลงการมองเห็นแย่ลง

- สายตาผิดปกติมากทั้งสองข้าง จากสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงมากทั้งสองข้าง ภาวะนี้ ทำให้เกิดตาขี้เกียจได้ในตาทั้งสองข้าง เนื่องจากจะมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งสองข้างพอ กัน

- โรคทางตาอื่น  เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด โรคกระจกตาดำขุ่นมัว หนังตาตกมาก จนปิดรูม่านตา หรือโรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โรคต่าง เหล่านี้ ทำให้แสงเดินทางผ่านเข้าไปในดวงตาไม่ดี จึงมองเห็นภาพไม่ชัด

อาการของตาขี้เกียจ

- มองภาพไม่ชัด โดยเฉพาะภาพที่มีความละเอียดสูง

- ตาสองข้างทำงานไม่ประสานกัน

การรักษา

- การใช้แว่นสายตา : ในกรณีตาขี้เกียจ เกิดจากปัญหาความผิดปกติทางสายตา จะเริ่มการรักษาโดยการใช้แว่นสายตาก่อน หากเด็กเริ่มมองเห็นชัด จากการใช้แว่น ก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นได้

- การปิดตาข้างที่ดี : เป็นการกระตุ้น ให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจได้ใช้งาน และส่งผลให้การมองเห็นดีขึ้น
- การหยอดตา : โดยหยอดตาเฉพาะข้างที่ดี เพื่อทำให้ตาข้างที่ดีมัวลง เป็นการกระตุ้นตาข้างที่ขี้เกียจให้กลับมาทำงานให้ดีขึ้น
- การผ่าตัด : กรณีที่สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาได้ เช่น การผ่าตัดต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตก เพื่อทำให้ตาข้างนั้นมองชัดขึ้น จากนั้นจึงทำการปิดตาข้างที่ดีกว่า เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่ด้อยกว่า ได้ใช้งานมากขึ้น


#BackboneMCOT

อ้างอิง และขอบคุณข้อมูลจาก :

รศ. นพ. พิทยา ภมรเวชวรรณ

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)