6 ม.ค.66 - นายกฯ มอบกองทัพดูแลผู้บาดเจ็บ และครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างดีที่สุด หลังประสบเหตุจากการเก็บกู้ระเบิด พื้นที่ช่องพระพะลัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มอบหมายให้ พลเอก ศุภธัช นรินทรภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้าเยี่ยมอาการของ สิบเอก วรงค์กร ศรีงาม ซึ่งประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงานเก็บกู้ทุ่นระเบิด บริเวณพื้นที่ ช่องพระพะลัย ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเข้ารักษาอาการบาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลวารินชำราบอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้น จำนวน 40,000 บาท
จากนั้นเดินทางไปให้กำลังใจกับกำลังพลผู้ปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้งหน่วย บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยทา ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมทั้งได้นำความห่วงใยของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ได้กล่าวยกย่องกำลังพลในการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก ตรากตรำ และเสียสละ จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งขอชื่นชมกำลังพลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติทุกนายที่ทุ่มเท อุทิศตน ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ ขอให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ต่อไป
•
ก่อนที่ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร ได้เดินทางไปร่วมเคารพศพ สิบเอกอัครพล ภูวดลวรนารถ ณ โรงพยาบาลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 200,000 บาท ทั้งนี้ กองทัพจะดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ของกำลังพลผู้เสียชีวิตตามระเบียบราชการอย่างครบถ้วนต่อไป
สำหรับ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวน 164 ประเทศ ที่ได้ลงนามเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ของอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา (อนุสัญญาออตตาวา) โดยอนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2542 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลให้ประเทศไทยมีพันธกรณีหลัก 5 ประการ เรียกรวมกันว่า “การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Mine Action)” ได้แก่ การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่สะสมไว้คงคลัง ให้หมดไปภายใน 4 ปี (ปัจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อย) การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้หมดไปจากประเทศ การแจ้งเตือนและให้ความรู้อันตรายจากทุ่นระเบิดแก่ประชาชน การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และการดำเนินการทางกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ
•
ปัจจุบัน จากการสำรวจพื้นที่ในประเทศไทย พบว่ายังคงมีพื้นที่อันตรายที่ต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอีกจำนวน29.7 ตารางกิโลเมตร ใน 6 พื้นที่จังหวัด โดยที่ผ่านมา กองทัพไทยได้ดำเนินการเก็บกู้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว จำนวน2,527 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 21 จังหวัด และจะยังคงดำรงการปฏิบัติงานด้านการเก็บกู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชนต่อไป