X
26 เมษาฯ น้อมรำลึก “เจ้าฟ้าศิริราช” ที่มาโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของไทย

26 เมษาฯ น้อมรำลึก “เจ้าฟ้าศิริราช” ที่มาโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของไทย

26 เม.ย 2567
290 views
ขนาดตัวอักษร

จากไม้ในงานสร้างพระเมรุ ส่งสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชฯ พระโอรสในรัชกาลที่ 5 คืนสู่ฟ้า กลับเป็นจุดกำเนิด โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของไทย “โรงพยาบาลศิริราช” หรือ โรงพยาบาลวังหลัง ที่รักษาคนไข้ โดยไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล ทรงเสด็จฯ ประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431



136 ปี น้อมรำลึก ทูลกระหม่อมฯ สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิด นำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำไม้ที่นำมาใช้ และเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง มาใช้สร้างโรงพยาบาล เรือนที่พักของหมอ และคนไข้ และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” เพื่อรักษาคนไข้สาธารณะ โดยไม่มีการเก็บค่ารักษาพยาบาล

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดอหิวาตกโรค ระบาดชุกชุม เมื่อ พ.ศ. 2424 ในครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราว ในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการ หากแต่ในพระราชหฤทัย ทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้น จะยังประโยชน์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พสกนิกร และผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร แต่การจัดตั้งโรงพยาบาลนั้นเป็นการใหญ่ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการ เพื่อจัดการโรงพยาบาลให้สำเร็จ



ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการ จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้าง โรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ

ในระหว่าง ที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 ยังความอาลัยเศร้าโศกแห่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยิ่งนัก ถึงกับทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้า ที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้น ครั้นเสร็จงานพระเมรุแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือน และเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุ นำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลังดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย



ในระยะแรก คณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณา เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ ทั้งแผนปัจจุบัน และแผนโบราณของไทย

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนแพทย์อย่างเป็นทางการ และพระราชทานนามว่า “ราชแพทยาลัย” ซึ่งเป็นนามดั้งเดิมของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปัจจุบัน



สำหรับข้อมูล : ประวัติโรงพยาบาลศิริราช (ฉบับเต็ม)
ติดตามต่อได้จากเว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ คลิกอ่านต่อได้ จากลิงก์ด้านล่างนี้

https://www.si.mahidol.ac.th/sirirajhospital/history.html


ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม บทความที่มาของ นามพระราชทาน โรงพยาบาลศิริราช ได้จากเพจเฟซบุ๊ก Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช (ลิงก์ด้านล่างนี้)

“ศิริราช” มงคลนามเพื่อประชาชน
https://www.facebook.com/photo/?fbid=736203122060444&set=a.546511981029560


นอกจากนี้ ทาง พิพิธภัณฑ์ศิริราช ได้มีการจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ ในโอกาสอันเป็นวาระมหามงคล ที่โรงพยาบาลศิริราช ครบรอบ 136 ปี ในปีพุทธศักราช 2567 นี้ พิพิธภัณฑ์ศิริราช ได้อัญเชิญนิทรรศการ พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ผลงานของ สนิท ดิษฐพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) โดยหอสมุดศิริราชให้ความอนุเคราะห์ยืมมาจัดแสดง ในนิทรรศการ มงคลนาม 136 ปี “โรงศิริราชพยาบาล”  ระหว่างวันที่ 20 - 29 เม.ย. พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 - 16.30 น. ณ โถงต้อนรับ อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบข่าวนี้ จาก :

เว็บไซต์ : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.si.mahidol.ac.th

เฟซบุ๊ก : Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช
https://www.facebook.com/siriraj.museum

เฟซบุ๊ก : สาขาถ่ายภาพทางการแพทย์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
https://www.facebook.com/SiMETCPHOTO



Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล