10 ก.ค.68 - ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ “งด-ลดเบาๆ ให้เพลาลงหน่อย” ช่วง 3 เดือนเข้าพรรษานี้ หวังคนเจนใหม่เปลี่ยนแนวคิด กล้าปฏิเสธน้ำเมาเอาชีวิตไว้ก่อน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม โครงการ Youth ME D Project กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “Healthy Seasons 2025: เข้าพรรษาปีนี้ งด ลด เบาๆ ให้เพลาลงหน่อย” ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้มาดูแลสุขภาพช่วงเข้าพรรษา สร้างนิเวศสุขภาวะในการดูแลสุขภาพผ่านทางเลือกต่างๆ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ปี 2567 พบว่าอัตราการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มจาก 15.9 ล้านคน หรือ 28.4 %ในปี 2560 เป็น 20.9 ล้านคน หรือ 35.2 % ในปี 2567โดยในช่วงอายุ 15–19 ปี เพิ่มจาก 9% ในปี 2564 เป็น 9.6% ในปี 2567 อายุ 20–24 ปี เพิ่มจาก 31.6% ในปี 2564 เป็น 37.8%ขณะที่เด็กเยาวชนทั่วโลกกลับดื่มลดลงหันไปให้ความสำคัญกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ที่อิสระจากเหล้า เช่น ผลสำรวจในสหราชอาณาจักรพบคนวัย 20-24 ปีซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าคนรุ่นก่อนถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนที่สหรัฐอเมริกามีงานวิจัยพบว่า 49% ของกลุ่ม Gen Z และ Gen Y วางแผนลดหรืองดแอลกอฮอล์ในกิจกรรม “งดเหล้าเข้ามกรา”(Dry January) และมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยกลับมีการผ่อนคลายมาตรการต่างฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มส่งผลทางลบต่อค่านิยมและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาลดพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคและปัญหาสังคม ซึ่งเด็กและเยาวชนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวว่า ตนอยากเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อบายมุขต่างๆ ชวนกันมาดูแลสุขภาพตนเองและสุขภาพสังคมแนวคิด“Healthy Seasons 2025: เข้าพรรษาปีนี้ งด ลด เบาๆ ให้เพลาลงหน่อย” ที่เป็นการช่วยสร้างสภาพแวดล้อม สังคมที่ปลอดภัยจากการดื่ม ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไอซ์แลนด์ อเมริกา ออสเตรเลีย หันมาดูแลสุขภาพตนเองด้วยการไม่ดื่ม เพราะมีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถปฏิเสธเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ ที่ประเทศออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการรณรงค์ลดการดื่มลงครึ่งหนึ่ง ถึงขนาดใช้คำว่าเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่เด็กไทยวันนี้กลายเป็นเหยื่อการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ ดังนัน้ถึงเวลาที่ต้องส่งเสริมให้เด็กไทยเป็นตัวของตนเอง คิดเป็น ปฏิเสธเป็น โดยสังคมรอบข้างทั้งในครอบครัว ชุมชน ที่ทำงาน ต้องช่วยกันดูแล ประคับประคอง ออกแบบพื้นที่ปลอดภัย พัฒนาพื้นที่หรือกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดในจิตใจ จากปัญหาต่างๆ ทั้งในประเทศและรอกประเทศ
•
นายวสกร เดชสุธรรม กล่าวว่า การควบคุมตนเองเป็นเรื่องสำคัญ การเป็นนักร้องเรื่องคุณภาพเสียงเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อก่อนเคยดื่มแล้วรู้สึกเสียงไม่มีคุณภาพ แต่เลิกได้แม้จะอยู่ในสังคมที่มีคนรอบข้างดื่ม แต่เราก็สามารถเป็นตัวเองและรู้ตัวเองว่าทำอะไรอยู่และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ สามารถร้องเพลงได้ทุกแนวสร้างความสุขไดโดยไม่ต้องดื่ม อีกทั้งตนยังไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้สารเสพติดด้วย
•
นางสาวอินทิรา เจริญปุระ กล่าวว่า ตนเคยใช้การดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างอารมณ์นักแสดงให้เข้าถึงบทบาท รวมถึงดื่มเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ได้แค่ชั่วคราว สุดท้ายปัญหาไม่ได้หายไปไหน จึงหาวิธีการใหม่ สามารถแสดงละคร หรือแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนอกจากทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นแล้วสุขภาพก็ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าก็สามารถคงที่ ดังนั้นทุกวันนี้จึงไม่ได้ดื่ม แม้กระทั่งไปปาร์ตี้เงี้ยยงปิดกล้งอละครต่างๆ ก็สนุกได้โดยไม่ต้องดื่มแอลกอฮอล์
•
ขณะที่ นายธชย ประทุมวรรณ กล่าวว่า งานศิลปะ การร้องเพลงเป็นช่องทางให้เราได้แสดงตัวตนแสดงความสามารถได้ ที่สำคัญคือเราสร้างสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เพิ่มความกล้าหรือเพิ่มอารมณ์ศิลปิน เลยเพราะในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวทำร้ายสมาธิ ความกล้า ย้ำว่าอารมณ์ของศิลปินที่แท้จริงควรมาจากภายในของเรา ถ้าเราชัดเจนจะไม่มีใครมาชวนเราดื่ม และรู้จักการปฏิเสธอย่างสุภาพ ดังนั้น เราต้องหาความสนใจหรือแรงแรงจูงใจของตัวเองให้กับ และทำมันให้สำเร็จ
•
นายรัชตะ ศรีพูน นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 วง Black Coffee จากโครงการ Stopdrink Music Awards กล่าวว่า ตอนได้มาแข่ง Stopdrink Music Awards รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะบทเพลง “ทางของเรา” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ตอนแต่งเพลงพยายามสื่อสารว่า เราควรมีทางของตนเองไม่จำเป็นต้องตามใคร ถ้ามีใครชวนเราไปดื่ม สูบ เสพ ก็บอกได้ตรงๆ ได้เลย ถ้าช่วงไหนเครียดก็จะใช้ดนตรีบำบัด ตีกลอง หรือเปิดเพลงเต้นในห้องน้ำ ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ในการแก้ปัญหาเพราะทำให้ร่างกายทรุดโทรมไม่เป็นผลดี มีแต่เรื่องร้ายๆ ถ้าเลิกได้ควรเลิก วัยรุ่นยุคใหม่ ไม่ดื่ม ไม่เสพ โคตรเท่ห์ และที่สำคัญ อย่าทำให้คนที่รักเราเสียใจ
•
นายกชกร ศุภกาญจน์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื่นที่กทม.มีประชากรตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงรวมกว่า 11 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนดื่มเหล้าประมาณ 2.2 ล้าน และดื่มประจำประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาท ดื่มแล้วขับ ละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นเราจึงตั้งเป้าลดคนดื่มให้ได้ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งคือ ต้องทำให้คนไม่มีความต้องการที่จะดื่มแล้วจะทำให้ไม่มีการดื่มและการขาย ซึ่งคนที่ไม่ดื่มต้องเข้มแข็งและเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่กัน การรณรงค์ช่วงเข้าพรรษาเน้นให้งดดื่มมีแคมเปญ “ท้าคนกล้าเลิกเหล้า” เพราะถ้าเลิกได้ 3 เดือนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ขณะนี้มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการแล้ว 70 แห่ง ประการที่สองคือปรับทัศนคติว่า ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดช่วยแก้ปัญหา มีแต่คนที่ต้องรักตนเองมากๆ แล้วจะเลิกดื่มได้
โดยกิจกรรมในช่วง Healthy Seasons 2025 หรือในช่วงเข้าพรรษานี้ มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคมได้จัดกิจกรรม SDN Run for Friends ชวนกันวิ่งเพื่อร่วมดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (VR RUN) โดยสะสมระยะระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม - 7 ตุลาคม 2568 (หรือช่วงเข้าพรรษา) ทั้งนี้มีเสื้อและของที่ระลึกมอบให้แก่ผู้เข้าร่วมที่โชคดี จำนวน 1,000 รางวัล โดยนำรายได้จากการบริจาคสมทบกองทุนช่วยเหลือและเยียวยาเด็กเยาวชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถติดตามได้ที่เพจ SDN Run for Friends