X
พระพุทธสิหิงค์ จากศรัทธาพระคู่บ้านคู่เมือง สู่พระประจำสงกรานต์

พระพุทธสิหิงค์ จากศรัทธาพระคู่บ้านคู่เมือง สู่พระประจำสงกรานต์

13 เม.ย 2565
11680 views
ขนาดตัวอักษร

ย้อนอดีต เจาะปูมหลัง พลังศรัทธา พระพุทธสิหิงค์ จากนิทาน... สู่ตำนาน จากประเทศหนึ่ง ย้ายมาสู่สยามประเทศ ข้ามผ่านยุคสมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 700 มีหลายเมือง ที่พระพุทธสิหิงค์ ได้ย้ายไปประดิษฐานจนเป็น พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช เมืองเชียงใหม่ และเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพมหานคร เส้นทางศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ดำเนินไปอย่างไร รวบรวมมาบอกกันแล้ว...



ข้อมูลจากเว็บไซต์ มิวเซียนไทยแลนด์ เปิดเผยว่า พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระพุทธสิหิงค์ ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัด และศาลจังหวัด แต่เดิมเป็นหอพระประจำวังของ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ในบริเวณที่ตั้ง วังเดิมของเจ้าพระยานคร (น้อย) พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่ชาวไทยสักการะบูชา มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และมีอยู่หลายองค์ด้วยกันกระจายไป ตามจังหวัดต่าง ๆ แต่ที่ถือว่า เป็นองค์แท้จริงมีเพียง 3 องค์ คือ

1. องค์แรก ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

2. องค์ที่ 2 ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงค์ จังหวัดเชียงใหม่

3. องค์ที่ 3 ประดิษฐาน ณ หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช


พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร แบบขนมต้ม ชายสังฆาติสั้นระดับพระถัน วัสดุสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 16.8 นิ้ว สกุลช่างนครศรีธรรมราช

หอพระพุทธสิหิงค์ อันเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครนั้น เดิมเป็นหอพระ ประจำวังของเจ้าพระยานคร ตั้งอยู่ระหว่าง ศาลากลางจังหวัด และ ศาลจังหวัด สร้างใหม่แทนหอเดิมใน พ.ศ.2457 เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ตอน มีผนังก่ออิฐกั้น ตอนหน้า เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ และมีพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร บุด้วยทองคำ และเงิน อย่างละองค์ ส่วนด้านหลัง เป็นที่เก็บอัฐิของตระกูล ณ นคร

ตามประวัติเชื่อกันว่า พระพุทธรูปนี้ คือ พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ปรากฏเรื่องราวตาม “สิหิงคนิทาน” หรือ ตำนานของพระพุทธสิหิงค์ เนื่องจากมีความ ที่ระบุเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ เมืองนครศรีธรรมราชอยู่ กล่าวคือ พระพุทธสิหิงค์ สร้างที่ประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ. 700 พ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัยได้ ทรงทราบกิตติศัพท์ เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ ว่า เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ มีพุทธลักษณะงดงาม จึงทรงขอให้ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จัดส่งราชฑูตไปลังกา ขอพระพุทธรูปองค์นี้มาบูชา ซึ่งก็ได้มาตามราชประสงค์ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ นครศรีธรรมราช จัดงาน พิธีสมโภชใหญ่โต เป็นเวลา 7 วัน

การอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ เข้ามายังดินแดนไทย โดยผ่านทาง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมือง ที่มีการติดต่อสัมพันธ์ อยู่กับลังกาอย่างใกล้ชิด ตามตำนานนั้นว่า พ่อขุนรามคำแหง เสด็จไปรับพระพุทธสิหิงค์ ถึงยังนครศรีธรรมราช ด้วยพระองค์เอง ส่วนพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้ให้ช่างท้องถิ่น จำลองไว้บูชา 1 องค์ แล้วได้อัญเชิญไปไว้ ณ กรุงสุโขทัย

พระพุทธสิหิงค์ เป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชา ในหมู่ชาวภาคใต้ โดยเฉพาะ ชาวนครศรีธรรมราช เป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่า ผู้ทุจริตคิดมิชอบทั้งหลาย จะไม่กล้าสาบาน ต่อหน้าองค์พระเลย หลังจากที่ได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่ ศาลากลางจังหวัดแล้ว คดีความ ที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก มักมีการเอ่ยอ้างนาม พระพุทธสิหิงค์ ในการสาบานตัว ทำให้ไม่มีใคร กล้าเบิกความเท็จ

นอกจาก พระพุทธสิหิงค์แล้ว ยังมีพระพุทธรูป ปูนปั้นองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอยุธยา ประทับนั่งอยู่ ชาวนคร เรียกว่า "พระเงิน" และด้านหลัง ของหอเป็นที่เก็บอัฐิ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในสกุล ณ นคร มีการอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ ออกให้ประชาชนสรงน้ำ ในเทศกาลสงกรานต์ เป็นประจำทุกปี


สำหรับ นิทานพระพุทธสิหิงค์ ว่าด้วยตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งพระโพธิรังสี แต่งไว้ในภาษาบาลี และได้รับการแปลเป็นฉบับใหม่ โดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ ซึ่งกรมศิลปากร จัดพิมพ์ในงาน เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2506 ได้มีการระบุเนื้อหาไว้ ดังนี้

ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ที่พระโพธิรังสี (แต่ง)... กล่าวความตั้งแต่สร้าง พระพุทธสิหิงค์ ในลังกาทวีป แล้วสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้มาไว้ในกรุงสุโขทัย ประมาณว่า ในรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง ในระหว่าง พ.ศ. 1820 จน พ.ศ. 1860 พระพุทธสิหิงค์อยู่ที่เมืองสุโขทัย

ราว พ.ศ. 1921 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ตีได้อาณาเขตสุโขทัย จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาไว้ ณ กรุงศรีอยุธยา

ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 นั้นเอง ราว พ.ศ. 1925 พระยาญาณดิศ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้พระพุทธสิหิงค์ ขึ้นไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชร

ต่อมาถึง พ.ศ. 1931 ท้าวมหาพรหม ได้พระพุทธสิหิงค์ เชิญขึ้นไปไว้เมืองเชียงราย

พระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ตีเมืองเชียงราย ได้พระสิหิงค์มาไว้เมืองนครเชียงใหม่ เมื่อราว พ.ศ. 1950

เรื่องตำนานของพระพุทธสิหิงค์ ที่พระโพธิรังสี แต่งมาจบอยู่เพียงนี้ ยังมีเรื่อง ตำนานของพระพุทธสิหิงค์ ต่อนั้นมาปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุต่าง ๆ มีหนังสือพระราชพงศาวดารเป็นต้น จะรวบรวมเนื้อความ มาสาธกไว้ต่อไปนี้




พระสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ประมาณ 255 ปี สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาล จุลศักราช 1024 (พ.ศ. 2205) โปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมากรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จนตลอดสมัยกรุงเก่า มีเนื้อความปรากฏ ครั้งราชทูตลังกา เข้ามาขอพระสงฆ์ ไปให้อุปสมบท ตั้งศาสนวงศ์ในลังกาทวีป

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2299 ว่าได้ไปบูชาพระสิหิงค์ กล่าวไว้ในศุภอักษร ตอบไปยังเมืองลังกา ดังนี้

"อนึ่ง ทูตานุทูต อำมาตย์ ได้เห็นพระพุทธสิหิงค์ ในมณฑป หน้ามโนรมย์ บรมพุทธารามวิหาร ประดับทองเงิน รัตนงามวิจิตร จึงพากันเจรจา เหตุที่ไม่ทราบเรื่องนั้นให้กันฟัง ราชบุรุษ จึงนำเรื่องนั้น มาเล่าให้ ทูตานุทูตนั้น ทราบชัด ทูตานุทูต อำมาตย์ทั้งหลาย ต่างพากันพูดว่า ตำนานพระสิหิงคนิทานนี้ ในกรุงศิริวัฒนนครไม่มี เราให้ราชบุรุษจาฤก ตำนานพระสิหิงคนิทานส่งมาให้ ขอให้ท่านอรรคมหาเสนาบดี ได้นำตำนานพระสิหิงคนิทานนี้ ทูลพระเจ้ากรุงศิริวัฒนบุรีด้วย"

พระพุทธสิหิงค์ อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดเวลา 105 ปี จนเมื่อกรุงเสียแก่พม่าข้าศึก ครั้งนั้นพวกเมืองเชียงใหม่ เข้ากับพม่า จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ กลับขึ้นไปไว้เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีกุน พ.ศ. 2310

ถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2338 เวลานั้น ไทยได้เมืองเชียงใหม่ ไว้เป็นเมืองขึ้นแล้ว พม่ายกกองทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพหลวง ขึ้นไปรบพม่าข้าศึก ตีกองพม่าแตกยับเยินไป จับตัวอุบากองแม่ทัพพม่าได้ ครั้นเสร็จการศึกแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธสิหิงค์ เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญ สำหรับพระนคร อยู่ในครั้งกรุงเก่า ข้าศึกมาชิงเอาไปเมื่อกรุงเสีย จึงโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ กลับลงมากรุงเทพฯ และทูลขอไว้ในพระราชวังบวรฯ ทรงอุทิศพระราชมณเฑียรองค์ 1 ถวายเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" ฝาผนังข้างในให้เขียนเรื่อง ปฐมสมโพธิ กับเทพชุมนุม ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สวรรคตแล้ว ที่พระราชวังบวรฯ ว่าง ไม่มีผู้ปฏิบัติบูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้เชิญ พระพุทธสิหิงค์ มาไว้ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งบนฐานชุกชีฯ อยู่ตลอดรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญพระพุทธสิหิงค์ กลับขึ้นไปไว้พระราชวังบวรฯ เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีกุนตรีศก จุลศักราช 1213 (ตรวจสอบตามปฏิทินไทย ตรงกับวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2394)

ทรงพระราชดำริ จะให้ไปประดิษฐานไว้ เป็นพระประธาน ในวัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างไว้ในพระราชวังบวรฯ ทำนองอย่าง วัดพระแก้ววังหน้า ทราบว่า โปรดให้เจ้าฟ้าอิศราพงษ์ ทรงบัญชาการ บุรณะวัดบวรสถานสุทธาวาส ข้างในพระอุโบสถ ฝาผนังให้เขียนเรื่อง ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ การยังไม่ทันสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบวรฯ เนือง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ จะมิให้เป็นวังว่าง ดังในรัชกาลก่อน ๆ พระพุทธสิหิงค์ คงประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ มิได้เชิญลงมาไว้วังหลวง เหมือนอย่างเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับถือพระพุทธสิหิงค์มาก ชอบพระทัยว่า เป็นพระพุทธรูป ที่มีสิริลักษณะงามอย่างยิ่งพระองค์ 1 และได้โปรดให้จำลอง หล่อขนาดใหญ่กว่าเดิม

ประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ พระองค์ 1

ประดิษฐานไว้ในซุ้มที่องค์ พระปฐมเจดีย์ พระองค์ 1

และจำลองขนาดน้อย หล่อด้วยทองคำ ประดิษฐานไว้ใน พระพุทธมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง อีกพระองค์ 1

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ พระองค์เดิมนั้น ยังตั้งเป็นประธานอยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จนตราบเท่าทุกวันนี้




พระพุทธสิหิงค์ แม้ในเวลาปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2506) ยังเป็นที่นับถือของชาวเมือง นครศรีธรรมราช และเมืองเชียงใหม่ ทั้ง 2 แห่งนั้น ยังมีพระพุทธรูป ซึ่งเรียกว่า พระพุทธสิหิงค์

พระองค์ที่เมือง นครศรีธรรมราช เป็นพระขนาดย่อม หน้าตัก 14 นิ้ว รักษาไว้ใน หอพระสิหิงค์ ที่จวนเดิมกลางเมือง นครศรีธรรมราช

พระองค์ที่เมือง เชียงใหม่ หน้าตัก 2 ศอก ตั้งไว้ในซุ้มคูหา วิหารพระสิหิงค์เดิม ในวัดพระสิงห์ กลางเมืองเชียงใหม่ ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้



ทั้งนี้ เรื่องราวบางช่วงของเนื้อหา ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ที่ลงไว้นี้ ...Backbone MCOT ได้ย่อความให้กระชับ และเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งสามารถหาอ่าน ต้นฉบับ ของกรมศิลปากรได้ โดยเอกสารต้นฉบับ มีที่มาจากเว็บไซต์ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ ระบุชื่อไว้ว่า

นิทานพระพุทธสิหิงค์ : ว่าด้วยตำนาน พระพุทธสิหิงค์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2506

หนังสือสิหิงคนิทาน เป็นตำนานของพระพุทธรูปสำคัญ และมีความสัมพันธ์กับประชาชน และประวัติศาสตร์ไทย ต้นฉบับเป็นภาษาบาลี กรมศิลปากร มอบให้ ร้อยตำรวจโทแสง มนวิทูร แปลเป็นภาษาไทย เรียกชื่อเรื่องให้ใกล้เคียงกับฉบับบาลีว่า นิทานพระพุทธสิหิงค์ จัดพิมพ์ ทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย ที่ได้แปลความออกมา ตั้งแต่ปริเฉท 1 - 8 และท้ายเล่ม เป็นตำนานพระพุทธสิหิงค์ ตามพระราชพงศาวดาร และเรื่องพระพุทธสิหิงค์ ที่มีกล่าวไว้ในหนังสือต่าง ๆ

คลิกเพื่อไปอ่าน (ต้นฉบับ)ได้ที่ >> http://digital.nlt.go.th/items/show/1105



และในปีนี้ (2565)​ กทม. ได้กำหนดจัดงาน เทศกาลมหาสงกรานต์ ของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 เม.ย. 65 เพียงจุดเดียว คือ บริเวณลานสแควร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ เพื่อเป็นการบำรุงรักษา วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในวันสำคัญทางประเพณี ให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนเพื่อเป็นการฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

โดยการจัดงาน จะเน้นความเรียบง่าย ในรูปแบบความเป็นไทย และปลอดภัย และได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ไปประดิษฐานบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้สักการะขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล



และข้ามไปกันที่จังหวัด พิษณุโลก ในส่วนของศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก ได้เปิดให้ประชาชนมาสรงน้ำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำภาคเหนือ ซึ่งได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุด ในประเทศไทย, พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดเชียงใหม่, พระแก้วมรกต จังหวัดลำปาง พระพุทธรูปปางสมาธิ ที่องค์พระเป็นวัสดุหยก สีเขียวเข้ม, ท้าวเวสสุวรรณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ปางประทับนั่งถือคทาวุธัง หนึ่งเดียวในสยามรัฐสีมา และเก่าที่สุดในประเทศไทย, ท้าวเวสสุวรรณ ปางพรหมาสูติเทพ หลวงพ่ออิฏฐ์ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม, ท้าวเวสสุวรรณ จาตุมหาราช หลวงพ่ออิฏฐ์ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่วันที่ 8 - 17 เม.ย. 65



ท้ายนี้ Backbone MCOT มีหน้าเพจที่จะพาไป ไหว้สักการะขอพร พระพุทธสิหิงค์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ผ่านทางระบบออนไลน์ ที่ดูเสมือนได้เข้าไปชื่นชมในแบบใกล้ชิด
โดยคลิกเว็บฯ ที่นี่ >> พระที่นั่งพุทไธสวรรย์



อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : มิวเซียมไทยแลนด์
https://www.museumthailand.com

เว็บไซต์ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.
https://www.prbangkok.com/th

เว็บไซต์ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ
http://digital.nlt.go.th

เฟซบุ๊ก : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
(ที่มาภาพ พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
https://www.facebook.com/prfinearts

เฟซบุ๊ก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(ที่มาภาพ พระพุทธสิหิงค์ หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช)
https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok

เว็บไซต์ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
(ที่มาภาพ พระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำ วัดพระสิงค์ จังหวัดเชียงใหม่)
https://sac.or.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)