รพ.ธนบุรี ร่วมกับ จุงหวาเทเลคอม พัฒนาระบบ “รพ.อัจฉริยะ” ให้บริการดูแลผู้ป่วย ยกระดับการทำงานของแพทย์ให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
รพ.ธนบุรี ได้มีการจัดพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาระบบ “รพ.อัจฉริยะ” หรือ Smart Hospital ระหว่าง นพ.ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล ผู้อำนวยการ รพ.ธนบุรี กับ Ms.Sarah Wu ประธานกรรมการบริหาร บ.จุงหวาเทเลคอม จากไต้หวัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของ รพ.ธนบุรีให้ก้าวสู่ความเป็นโรงพยาบาลชั้นนำด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยที่ บจก.จุงหวาเทเลคอม และ บจก.Imedtac จากไต้หวัน กับ บจก. MD Healthcare ประเทศไทย ได้ร่วมกันนำเข้าและติดตั้งส่วนประกอบหลักของระบบ รพ.อัจฉริยะไว้ใน รพ.ธนบุรี ประกอบด้วย เคาน์เตอร์พยาบาลอัจฉริยะ, บู๊ธรวมการวัดสัญญาณชีพ, เครื่องเก็บและจ่ายยาอัตโนมัติ, จอแสดงผลที่เตียงผู้ป่วย, เครื่องตรวจติดตามผู้ป่วยป้องกันการพลัดตกจากเตียง ซึ่งจะนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการลดภาระให้แพทย์และพยาบาลที่ส่งผลให้ผลการรักษาผู้ป่วยเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ.ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล ผู้อำนวยการ รพ ธนบุรี เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการนำระบบเทคโนโลยี มาใช้ประโยชน์ในการเก็บข้อมูล การพัฒนาองค์กร และส่งต่อข้อมูลจะนำไปสู่การแพทย์ที่แม่นยำ การวินิจฉัยได้อย่าง เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการ เช่น การที่ รพ.ธนบุรี ได้รับความไว้วางใจจากผู้สูงอายุมารับบริการจำนวนมาก การมีเครื่องตรวจติดตามผู้ป่วยป้องกันการพลัดตกจากเตียง ซึ่งเป็นการแสดงภาพอินฟราเรดตรงไปยังเคาน์เตอร์พยาบาลอัจฉริยะ จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยในกรณีพลัดตกเตียงทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรณีผู้ป่วยเกิดพลัดตกเตียง ตัวระบบจะส่งสัญญาณเตือนให้แพทย์ พยาบาล สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ยังมีจอแสดงผลที่เตียงผู้ป่วย ที่จะเชื่อมต่อข้อมูลของคนไข้กับแท็บเล็ตของแพทย์ โดยในกรณีฉุกเฉินสามารถให้แพทย์เจ้าของไข้ หรือแพทย์เฉพาะทาง สามารถวินิจฉัยอาการป่วยได้แม้ไม่ใช่เวลาเข้าเวรดูแลผู้ป่วยก็ตาม หรืออุปกรณ์เครื่องเก็บและจ่ายยาอัตโนมัติ ที่จะเข้ามาเพิ่มความแม่นยำในการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย ป้องกันปัญหาการจ่ายยาผิดให้แก่คนไข้
“รพ.ธนบุรี มองถึงทางเลือกต่างๆในการเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของแพทย์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีและระบบไอทีต่างๆ ที่นำเข้ามา จะช่วยให้แพทย์ทำงานวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ฉะนั้นเป้าใหญ่ของการเป็น รพ.อัจฉริยะ ไม่ใช่เป็น รพ.ไอทีชั้นสูง แต่จะทำอย่างไรให้บุคลากรทางการแพทย์ของเรารักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” นพ.ศิริพงศ์ กล่าว
นพ.สมยศ วรรณสินธพ ผอ.สายคุณภาพ และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคกระดูกและข้อ รพ.ธนบุรี กล่าวว่า ผลตอบรับของคนไข้ที่ได้งานอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆของทางโรงพยาบาล พบว่าผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น อุปกรณ์บู๊ธรวมการวัดสัญญาณชีพ ที่ผู้เข้ารับบริการสามารถใช้ตรวจวัดข้อมูลต่างๆได้ง่ายๆด้วยตัวเอง เพียงแค่เสียบบัตรประชาชนเข้าไปในตู้ ซึ่งระบบจะแสดงขั้นตอนในการตรวจวัดข้อมูลต่างๆ น้ำหนัก ส่วนสูง ทั้งสัญญาณชีพ หรือความดันโลหิต โดยจากการสอบถามผู้ใช้งานยังพบว่าการที่สามารถตรวจค่าต่างๆในร่างกายได้ด้วยตนเอง ยังเหมือนเป็นการช่วยให้เกิดความรู้สึกอยากดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น
ด้าน Ms Sarah Wu ประธานกรรมการบริหาร บจก. จุงหวาเทเลคอม กล่าวว่า ในช่วงเวลาหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มถดถอยน้อยลง ประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้แต่ละ รพ.จำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมการให้บริการเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา




