กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือก 16 เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ที่โดดเด่น เพื่อสืบสานและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับสู่นานาชาติ เป็น 1 ใน 5F Soft Power ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้แก่ประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อน Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพ 5F (Food, Fight, Film, Fashion, Festival) โดยแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการคัดเลือกเทศกาลประเพณีของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 16 ประเภท ล้วนมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ แสดงออกถึงวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถนำมาพัฒนาต่อยอด ส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเผยแพร่ประเพณีของไทยให้เป็นที่รู้จัก ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศชาติ ได้แก่
1) ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี
2) เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี
3) ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จ.น่าน
4) ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชา อารยธรรมอีสาน” จ.ยโสธร
5) ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
6) เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art จ.นครราชสีมา
7) เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จ.สระแก้ว
8) เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ จ.สกลนคร
9) เทศกาลอาหารอร่อย เมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร จ.ภูเก็ต
10) ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส จ.ชลบุรี
11) เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” จ.แม่ฮ่องสอน
12) ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จ.สระบุรี
13) ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จ.นครพนม
14) เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” จ.พะเยา
15) เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จ.เพชรบุรี และ
16) เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน จ.ลำพูน