X
กรมการแพทย์ แจง เล็บขบ หนอนซอกเล็บ แนะวิธีจัดการ

กรมการแพทย์ แจง เล็บขบ หนอนซอกเล็บ แนะวิธีจัดการ

31 ส.ค. 2565
3500 views
ขนาดตัวอักษร

รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจง กรณีเล็บขบ มีหนอนอยู่ในซอกเล็บนั้น เป็นหนอนของแมลงวัน หรือแมลงหวี่ ที่มาวางไข่ไว้ พร้อมอธิบายสาเหตุ เล็บขบ ถึงขั้นตอนการดูแลแผล แนะปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การแก้ไขเอง ล้วนเจ็บค่อนข้างมาก และมักต้องมาพบแพทย์ เพื่อทำการถอดเล็บ

โดย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผยสาเหตุของภาวการณ์เกิด เล็บขบ สาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบ มีหลายประการ ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดสัดส่วนกันมาก ของปลายแผ่นเล็บ กับส่วนโคนเล็บ พร้อมอธิบายการรักษา และการดูแล ทำความสะอาดแผล ไม่ให้ติดเชื้อ หากมีอาการผิดปกติ แนะนำให้เข้ามาปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง



นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าว เล็บขบ มีหนอนอยู่ในซอกเล็บนั้น การที่พบหนอน ในเนื้อเยื่อข้างเล็บ เรียกว่า cutaneous myiasis เป็นหนอนของแมลงวัน หรือแมลงหวี่ ที่มาวางไข่ไว้ บนผิวหนังที่เปิดอยู่ เช่น บนฝี, บนแผล หรือ ไชเข้ามา จากบริเวณอื่นของร่างกาย

หลังจากวางไข่ 1 - 3 วัน ก็จะฟักเป็นหนอน 1 - 3 สัปดาห์ หนอนจะกลายเป็นดักแด้ และเป็นแมลงบินออกไป การเป็นแผล ที่มีการติดเชื้อ หรือหนอนแมลง มักไม่หาย มีอาการอักเสบไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อมีแผลเปิดบนร่างกาย โดยเฉพาะแผล ที่เรื้อรัง หรือหายช้า ควรทำความสะอาด ระวังแมลงตอม หรือ ปิดแผล ด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้แมลงมาวางไข่ได้



แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะเล็บขบ (ingrown nails) คือ ภาวะที่ขอบด้านนอกของเล็บ กด หรือ ทิ่ม เข้าในเนื้อด้านข้างเล็บ โดยมักเป็นกับ นิ้วหัวแม่เท้า มากกว่านิ้วเท้าอื่น และเกิดน้อยมาก กับเล็บนิ้วมือ

สาเหตุที่ทำให้เกิด เล็บขบ มีหลายประการ แต่ที่พบบ่อย คือ ความผิดสัดส่วนกันมาก ของปลายแผ่นเล็บ กับส่วนโคนเล็บ เมื่อเดิน จะเกิดแรงกดที่ปลายนิ้ว ด้านข้างแผ่นเล็บ จะกดลงที่เนื้อขอบเล็บ ทำให้เริ่มมีอาการเจ็บเวลาเดิน คนไข้มักจะพยายามตัดเล็บ โดยเฉพาะเซาะขอบข้างเล็บ ออกให้มากที่สุด และส่วนใหญ่ ไม่สามารถตัดออกหมดได้ โดยเหลือขอบนอกสุดของเล็บ เป็นลักษณะเขี้ยวแหลม ซึ่งจะทิ่มเนื้อ ด้านข้างต่อไป จนเกิดอาการอักเสบ บวม ติดเชื้อ มีหนอง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะเล็บโค้งผิดปกติ (pincer nails), การสวมถุงเท้า รองเท้า ที่บีบหน้าเท้าแน่นเกินไป, มีเหงื่อ ออกเท้ามากกว่าปกติ เป็นต้น



ผู้อำนวยการ สถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การรักษาภาวะ เล็บขบ ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแยกเนื้อ กับขอบเล็บด้วยเทป หรือการงัดขอบเล็บขึ้น ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ล้วนเจ็บค่อนข้างมาก ในขณะทำ การทำเองที่บ้าน โดยไม่มียาชา มักจะทำไม่สำเร็จ หรือไม่ถึงระดับ ที่จะแก้การขบได้ และมักต้องมาพบแพทย์ เพื่อทำการถอดเล็บ เฉพาะส่วนด้านข้าง (partial nail avulsion) หากมีอาการผิดปกติ แนะนำให้เข้ามาปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : กรมการแพทย์
https://www.facebook.com/100069182200543

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)