จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง และจากข้อมูลของ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ที่ห่วงใยสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พืชผักสมุนไพร ที่มีศักยภาพนำมาปรุงเป็นอาหาร ที่มีทั้งคุณค่าทางโภชนาการ และยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยสร้างภูมิป้องกัน โรคโควิด-19 และจากเอกสารที่แนะนำไว้ พืชผักทั้งหมด 9 ชนิด ล้วนแต่เป็นพืชผัก ที่อยู่ใกล้ตัวคนไทย และยังเป็นเมนูอาหาร ที่คนไทยนิยมบริโภค มีอะไรบ้างนั้น Backbone MCOT รวบรวมมาฝากกันแล้ว
โดย ศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพร ได้เผยแพร่ความรู้เรื่อง พืชผักสมุนไพร ที่มีศักยภาพใช้เป็นอาหาร ป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า
กะเพรา มีสรรพคุณ รสเผ็ดร้อนฉุน แก้ปวดท้อง แก้ท้องขึ้นจุกเสียด ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้คลื่นไส้ อาเจียน
กระชาย (กระชายแกง) สรรพคุณ รสเผ็ดร้อนและขม ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด ช่วยให้เจริญอาหาร ซึ่งมีสรรพคุณคล้ายกับ โสม บางทีหมอแผนโบราณ เรียกว่า โสมไทย
กระเทียม สรรพคุณ รสเผ็ดร้อนฉุน แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน
ขิง สรรพคุณ รสเผ็ดร้อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อ ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ แก้คลื่นไส้ อาเจียน
ขมิ้นชัน สรรพคุณ รสเผ็ดร้อนและฝาด ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงร่างกาย
ตะไคร้ สรรพคุณ รสหอมปร่า ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการขัดเบา ลดความดันโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร
พลูคาว หรือ ผักคาวตอง สรรพคุณ รสเผ็ดร้อน แต่ออกฤทธิ์เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต
หม่อน สรรพคุณ รสจืดเย็น ใบ เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน, ผล รสเปรี้ยวหวานเย็น เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้เจ็บคอ และช่วยให้ชุ่มคอ
หอมแดง สรรพคุณ รสหอมปร่า ใช้หัวแก่ ๆ กินเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง บำรุงร่างกาย แก้หวัด คัดจมูก
และจากเอกสารเรื่อง พืชผักสมุนไพร ที่มีศักยภาพใช้เป็นอาหาร ป้องกันโรค COVID-19 โดยแสดงข้อมูลไว้ดังนี้
ขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) เป็นสมุนไพรในครัว ที่มีการศึกษาพบว่า สารสำคัญชนิด curcumin ที่พบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรค ทั้งโรค SARS, influenza, novel influenza H1N1 (WT), และ COVID-19 ในหลอดทดลอง และพบฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย
หอมแดง (Allium ascalonicum L.) หอมใหญ่ และหอมแดง เป็นสมุนไพรในครัว ที่มีการใช้ตามภูมิปัญญาไทย ในการบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก มาเนิ่นนาน ปัจจุบันมีการศึกษาโดยใช้เทคนิค molecular docking พบว่า สาร Quercetin ที่พบในหัวหอม หรือหอมแดง มีฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรค COVID-19 และมีการศึกษา พบว่า หอมแดง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ดีเช่นกัน
กะเพรา (Ocimum tenuiflorum L.) มีสาร orientin ที่พบว่า มีฤทธิ์ลดโอกาส การติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ในการศึกษาโดยใช้เทคนิค molecular docking นอกจากนี้ กะเพรา ยังมีน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ที่ประกอบด้วย methyl eugenol (37.7%), caryophylllene, methyl chavicol และ
อื่น ๆ ที่มีรายงานว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดปวด และสามารถยับยั้ง การเจริญของเชื้อจุลชีพได้หลายชนิด
หม่อน (Morus alba L.) มีการศึกษาโดยใช้เทคนิค molecular docking พบว่าสาร rutin จากใบหม่อน สามารถแย่งจับกับไวรัส ที่ตัวรับในปอด ซึ่งมีผลยับยั้ง ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ดี และในช่วงที่มีโรค COVID-19 ระบาดที่ประเทศจีน มีรายงานว่า มีการใช้ชาใบหม่อน ช่วยรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนี้ ลูกหม่อนเป็นผลไม้ ที่ให้พลังงานต่ำ แต่อุดมไปด้วยสาร กลุ่มโพลีฟีนอล และสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน ที่เป็นแหล่งของ สารต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ
พลูคาว (ผักคาวตอง) มีสารสำคัญ คือ quercetin, quercitrin, rutin และ cinanserin ที่มีผลการศึกษา (โดยใช้เทคนิค molecular docking) ว่ามีศักยภาพ ในการยับยั้งเชื้อ SAR และเชื้อโคโรนา ที่ก่อโรค COVID-19 ได้โดยการจับกับ M protein ของเชื้อ สารสกัดด้วยน้ำ ของผักคาวตอง แสดงฤทธิ์ยับยั้ง 3C-like protease (3CLpro) and RNA-dependentRNA polymerase ของ SARScoronavirus (SARS-CoV) อย่างมีนัยสำคัญ และสารสกัดพลูคาว ด้วยเอทิลอะซิเตท และ quercetin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ mouse hepatitis virus (ซึ่งเป็น coronavirus ชนิดหนึ่ง) และ Dengue virus ในหลอดทดลองได้
นอกจากนี้ พลูคาว (ผักคาวตอง) ยังมี immunomodulatory activity, เป็นผักที่มีรายงาน การศึกษาวิจัยที่พบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอักเสบ และลด mast cell-mediated anaphylactic responses
ขิง (Zingiber officinale Roscoe) ประกอบสารที่ให้รสเผ็ดร้อน gingerols (6-Gingerol), shogaols และน้ำมันหอมระเหย ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดอาการไอ และยับยั้งเชื้อไวรัส ก่อโรคในทางเดินหายใจได้
กระเทียม (Allium sativum L.) ประกอบด้วย น้ํามันหอมระเหย ประมาณ 0.1-0.4% มีองค์ประกอบหลักคือ allicin ajoene alliin allyldisulfide diallyldisulfide ซึ่งเป็นสารประกอบในกลุ่ม organosulfur ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ยังได้แนะนำ อาหารไทย ซึ่งเป็นอาหาร ที่มีส่วนประกอบของพืชผักสมุนไพร ที่หลากหลาย อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ คุณค่าทางโภชนาการ และสรรพคุณทางยา และเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ เหมาะต่อการบริโภค ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีการนำพืชผักสมุนไพร มาปรุงเป็นอาหาร เพื่อปรับสมดุลของธาตุทั้ง 4 ภายในร่างกาย (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย โดยตัวอย่างเมนูอาหาร มีดังต่อไปนี้
+ เมี่ยงคำ ส่วนประกอบ คือ ช้าพลู (ใบชะพลู), มะนาว, พริกขี้หนู, ขิง, หอมแดง, ถั่วลิสง, มะพร้าวคั่ว, กุ้งแห้ง
+ เมี่ยงปลาทู ส่วนประกอบ คือ ปลาทู, ช้าพลู (ใบชะพลู), ผักกาดหอม, สะระแหน่, ผักชี, โหระพา, ผักแพว, พริกขี้หนู, กระเทียม
+ น้ำพริก ได้แก่ น้ำพริกหนุ่ม, น้ำพริกอ่อง, น้ำพริกปลาทู, น้ำพริกมะขามป้อม
+ ลาบ ได้แก่ ลาบปลา พร้อมผักเคียง, ยอดมะยม, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ผักแพว, ขมิ้น, แตงกวา, พลูคาว, บัวบก, เพกา, ผักเชียงดา, ฝักมะรุม (ให้วิตามินซีสูง ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน)
+ ต้มไก่บ้านใส่ใบหม่อน ส่วนประกอบ คือ ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด, หอมแดง, กระเทียม, พริกแดง, รากผักชี, มะขามเปียก, ใบหม่อน, ไก่บ้าน
สำหรับข้อมูลรายละเอียด ตามเอกสารที่ได้เผยแพร่ของ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ยังได้แนะนำพืชผักสมุนไพร และผลไม้ ที่มีสรรพคุณทางยา อีกหลากหลายชนิด พร้อมทั้งแนะนำอาหาร เพิ่มภูมิคุ้มกัน อีกหลายเมนูที่น่าสนใจ ซึ่ง Backbone MCOT ขอแนะนำให้ติดตามอ่านได้ใน link (ข้อมูลอ้างอิงฯ) ที่อยู่ด้านล่างของหน้าเพจนี้
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก
https://www.dtam.moph.go.th
เฟซบุ๊ก : กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก
https://www.facebook.com/dtam.moph
เอกสารแนะนำเรื่อง พืชผักสมุนไพร 3 กลุ่ม ที่แนะนำให้บริโภค เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด
คลิกที่นี่ >> เอกสารเรื่อง พืชผักสมุนไพร 3 กลุ่มฯ
เอกสารแนะนำเรื่อง พืชผักสมุนไพรที่มีศักยภาพใช้เป็นอาหารป้องกันโรค COVID-19
คลิกที่นี่ >> เอกสารเรื่อง พืชผักสมุนไพรที่มีศักยภาพฯ
22 มี.ค. 2565
6500 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย