19 พ.ค.68 - ไม่ใช่ไข้หวัด แต่คือ 5 โรคอันตราย ในหน้าฝน ป่วยไว ป่วยง่าย ที่เล่นงานเด็กไทยทุกปี เฉลยเรื่องนี้กับหมอ รพ.วิมุต
“สุขภาพดี 4 วัย” ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจากโรงพยาบาลวิมุต ถึงอันตรายของโรคภัยไข้เจ็บในหน้าฝนแบบนี้ เพราะว่าเข้าหน้าฝนทีไรจะมีเด็กป่วยเด็กติดเชื้อมาจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนอยู่เสมอ นั้นก็เป็นเพราะว่าหน้าฝนมีอากาศชื้น “ส่งผลให้เชื้อโรคหลายชนิดเติบโตและแพร่ระบาดได้รวดเร็ว และระบบภูมิต้านทานของเด็กยังไม่แข็งแรงเต็มที่” ที่น่ากังวลกว่านั้นก็คือ “โรคที่พบบ่อยอาจไม่ใช่แค่ไข้หวัดทั่วไป” แต่อาจเป็นโรคอันตราย หากรับมือได้ไม่ดีจะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้
สุขภาพดี 4 วัย นำข้อมูลจาก พญ. สุธิดา ชินธเนศ กุมารแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิมุต มาแชร์การโรคระบาดในเด็กที่พบบ่อยในหน้าฝน พร้อมวิธีรับมือที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปดูแลลูกให้ห่างไกลโรคร้าย
📍5 โรคที่พบบ่อยในหน้าฝน และอาการที่ไม่ควรมองข้าม?
พญ. สุธิดา บอกว่า ช่วงหน้าฝน เด็กมักเสี่ยงต่อโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อผ่านการสัมผัส รวมไปถึงกลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ “โรคที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
👩⚕️1. “โรคมือ เท้า ปาก” มักพบในเด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียนหรือในเด็กต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรง อาการเด่นชัดคือมีไข้สูง มีแผลในปาก และมีผื่นที่มือและเท้า บางคนถ้าติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง กล้ามเนื้อ และหัวใจ
👩⚕️2. โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา เด็กจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และอาจมีอาการไอ น้ำมูก อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมและสมองอักเสบ
👩⚕️3.โรคปอดบวม เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งอาจพัฒนามาจากไข้หวัดธรรมดา โดยเด็กจะมีอาการไอและมีเสมหะมาก หายใจเร็วหรือหายใจหอบเหนื่อย เสียงหายใจผิดปกติ และในบางรายอาจมีริมฝีปากเขียวคล้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีอาการรุนแรงแล้ว
👩⚕️4. โรคตาแดงจากไวรัส ซึ่งแพร่กระจายได้ง่าย เด็กจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล มีขี้ตามาก
👩⚕️5.โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะ ในระยะแรกเด็กจะมีไข้สูง ปวดเมื่อย มีจุดเลือดออกสีแดงตามร่างกาย ส่วนอีกระยะที่ต้องระวังคือช่วงที่ไข้ลดลง เพราะบางคนอาจเกิดภาวะช็อกได้ และอาจมีอาการเลือดออกร่วมด้วย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
•
ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการของลูกไว้ตลอด เมื่อมีอาการผิดปกติหรืออาการที่เข้าข่ายโรคเหล่านี้จะได้รับมือได้ทันที
👩⚕️ พญ. สุธิดา เตือนว่า หากพบเด็กๆ มีอาการป่วยตาม 5 โรคอันตรายเหล่านี้ ระวัง! ซื้อยาให้ลูกเอง เพราะจะเสี่ยงทั้งดื้อยาและผลข้างเคียง โดยเมื่อลูกป่วย คุณพ่อคุณแม่ อาจร้อนใจและไปซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมาให้กิน ซึ่งจริง ๆ แล้วโรคระบาดในเด็กส่วนใหญ่มากกว่า 80–90% มักเกิดจากไวรัสที่ไม่มียารักษาเฉพาะ ยกเว้นบางโรค เช่น โควิด-19 และไข้หวัดใหญ่
ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจะไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคจากไวรัสดีขึ้น ยังอาจทำให้เกิดการดื้อยาในอนาคตหรือเกิดผลข้างเคียงจากยา สิ่งที่ทำได้เมื่อลูกติดโรคเหล่านี้คือการดูแลตามอาการ เช่น หากมีไข้ก็หมั่นเช็ดตัวและกินยาลดไข้ และถ้าสังเกตเห็นอาการที่น่าเป็นห่วงก็รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที เพราะแต่ละโรคหากปล่อยไว้อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกินอันตรายกับลูกของเราได้
👩⚕️ เสริมภูมิคุ้มกันให้ลูก ก่อนโรคจะถามหา!
พญ. สุธิดา ยังแนะนำอีกว่า อีกหนึ่งสิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกของเราติดโรคระบาดในช่วงนี้คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงตั้งแต่ต้น "เริ่มจากให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดี ส่วนเรื่องการนอนก็สำคัญ เด็ก ๆ ควรเข้านอนไม่เกิน 3-4 ทุ่ม และนอนให้ได้อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้มีวัคซีนหลายชนิดที่ช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคในเด็ก เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรฉีดทุกปี วัคซีนไข้เลือดออกที่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้ และวัคซีนมือเท้าปากที่ป้องกันสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดได้ ซึ่งวัคซีนเหล่านี้จะช่วยให้ลูกหลานของเราปลอดภัยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน"
•
“ให้เด็กๆ ได้กินอาหารดี ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และถ้าเป็นไปได้แนะนำให้พาไปรับวัคซีนให้ครบถ้วน ยิ่งช่วงหน้าฝนที่เชื้อโรคแพร่ระบาดง่ายแบบนี้ เวลาไปโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีคนเยอะ แนะนำให้ลูกน้อยรักษาความสะอาด ใช้ช้อนกลาง ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อย ๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้พ่อแม่ก็ต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย ถ้าหากพบอาการเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติที่น่าเป็นห่วงจะได้พาไปพบแพทย์และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที”
•
สุขภาพดี 4 วัย ขอขอบคุณ พญ. สุธิดา ชินธเนศ กุมารแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิมุต ที่มาให้ข้อมูลดูแลสุขภาพในสุขภาพดีทั้ง 4 วัยอีกด้วย