X
ประสานเสียงโต้! กรมอุทยานฯ จับมือกรมควบคุมโรค ยืนยัน ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา ในสัตว์เลี้ยงตลาดจตุจักร

ประสานเสียงโต้! กรมอุทยานฯ จับมือกรมควบคุมโรค ยืนยัน ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา ในสัตว์เลี้ยงตลาดจตุจักร

25 ก.พ. 2564
1600 views
ขนาดตัวอักษร

กทม. 25 ก.พ.64 – กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมควบคุมโรค ประสานเสียง โต้สื่อต่างชาติ ยืนยันไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในสัตว์หลายชนิดภายในตลาดค้าสัตว์เลี้ยงตลาดจตุจักร โดยไทยมีการตรวจสอบสัตว์กลุ่มเสี่ยงตลาดจตุจักรตั้งแต่มีนาคม 2563


หลังจากเกิดกรณีสื่อต่างประเทศ โดยสำนักข่าวโพลิทิเคน ของเดนมาร์ก เสนอรายงานข่าว ระบุตลาดค้าสัตว์ในสวนจตุจักร กรุงเทพฯ อาจเป็นสถานที่ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยอ้างข้อมูลจากเธีย เคิลเซน ฟีสเชอร์ แพทย์ชาวเดนมาร์ก ซึ่งทำงานกับองค์การอนามัยโลก และยังมีรายงานการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ ในค้างคาวบางสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยที่สำนักข่าวสปุตนิก (Sputnik) ของรัสเซีย อ้างผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิ เคชันส์ (Nature Communications) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ถูกพบในเลือดของค้างคาวเกือกม้า 5 ตัว ที่อาศัยอยู่ในถ้ำจำลอง ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่ง ทางตะวันออกของไทย ซึ่งคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเลือดของค้างคาวฝูงนี้ มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงถึง   ร้อยละ 91.5


ร้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยล่าสุดนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาแสดงข้อเท็จจริง ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สำรวจสัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลการวินิจฉัยตรวจโรคในสัตว์ชนิดต่างๆ ยืนยันว่า “ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดนัดจตุจักร

ซึ่งข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด สำหรับสัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัย และการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง


ส่วนข่าวรายงานต่างประเทศที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ข้อเท็จจริงในเดือนมิถุนายน 2563 คณะนักวิจัยของไทย นำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในหลายพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ และดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรนา 2019  ในความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรนา 2019 เพียงร้อยละ 91.5 ซึ่งไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้


ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการเชิงรุกโดยมีการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง ป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน

ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ก็ประสานเสียงออกมาโต้แย้งข้อมูลรายงานจากสื่อต่างประเทศในครั้งนี้ด้วย นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าเชื้อติดต่อจากค้างคาวไปสู่คน ซึ่งปัจจุบันไม่พบการจำหน่ายค้างคาวในตลาดนัดสวนจตุจักรแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของผลการวิจัยค้างคาวมงกุฎที่อาศัยในถ้ำ เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด มีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด 19 ร้อยละ 91.5 แต่ไม่สามารถติดต่อไปสู่คน อย่างไรก็ตามการไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวนับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด


นอกจากนี้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง รวมถึงหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดมีนบุรี ตลาดพุทธมณฑล เป็นประจำ โดยมีสำรวจและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มในตลาดนัดสวนจตุจักร พบว่าเป็นเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล