23 ธ.ค.65 - มท. จับมือ ยธ. ลงนาม MOU ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เน้นขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายควบคู่การเสริมสร้าง "กำลังใจ" เพื่อให้ผู้คิดจะทำผิดซ้ำได้รู้สึกมีคุณค่า สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รองอัยการสูงสุด นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายแพทย์ณรงค์สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพลตำรวจโท วีระ จิรวีระ รองจเรตำรวจแห่งชาติ
“ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานสักขีพยาน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ที่มาของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 หรือเรียกโดยย่อว่า กฎหมาย JSOC : Justice Safety Observation ad hoc Center เนื่องจากเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นทุกปี มักมีพฤติกรรมก่อเหตุซ้ำ “จึงได้ขับเคลื่อนยกร่างกฎหมายกระทั่งถูกตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมโดยเฉพาะสตรี และเพื่อป้องกันอันตรายจากการก่อเหตุซ้ำซาก”
โดยสาระสำคัญของกฎหมาย JSOC จะใช้กับผู้กระทำผิด 3 กลุ่ม คือ
1) ความผิดทางเพศ
2) ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย
3) ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ/เรียกค่าไถ่
สาระสำคัญ คือ แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และเฝ้าระวังภัยหลังพ้นโทษโดยใส่กำไล EM มากที่สุด 10 ปี และหากพบการกระทำผิด ตำรวจและฝ่ายปกครองสามารถเข้าควบคุมตัวทันทีภายใน 48 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถขอควบคุมฉุกเฉินเพิ่มอีกไม่เกิน 7 วัน และขออำนาจศาลเปลี่ยนมาตรการจากเฝ้าระวังเป็นคุมขังไม่เกิน 3 ปี โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มกราคม 2566 นี้
ส่วนกรณีมีฑูตประเทศต่าง ๆ มาเข้าพบ และมีการพูดคุยถึงโทษประหารชีวิต ได้ให้ความเห็นไปว่าการจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ ต้องไม่มีคนทำผิดในคดีหนัก ๆ ซึ่งวันนี้เรามีกฎหมาย JSOC ที่มีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการกระทำผิดรุนแรง โดยทำให้ในอนาคตมีโอกาสยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ เพราะกฎหมาย JSOC จะช่วยควบคุมไม่ให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือช่วยทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดซ้ำได้มีเครื่องเตือนใจให้ยับยั้งชั่งใจไม่ให้กระทำผิดซ้ำ รวมทั้งทำให้คนในสังคมได้มีโอกาสช่วยกันดูแลผู้ที่มีโอกาสกระทำความผิดให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม
กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างมาตรการป้องกันและระมัดระวังความปลอดภัยให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติมีกลไก มีระบบที่จะดูแลคนดี และช่วยสกัด ระงับยับยั้งไม่ให้คนที่เผลอพลั้งในเรื่องจิตใจที่จะตัดสินไปทำสิ่งที่ผิดทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนและสังคม
•
ภารกิจของกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ต้อง "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน โดยชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ทั้ง 878 อำเภอใน 76 จังหวัด อันประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องอาสาสมัครต่าง ๆยินดีและเต็มใจในการขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายที่ได้ลงนาม MOU กันในวันนี้
ทั้งขั้นตอนการควบคุมตัวผู้ถูกเฝ้าระวังเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน การนำตัวผู้ถูกเฝ้าระวังไปส่งศาล การพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ และการสนับสนุนฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร และเราจะไม่หยุดเพียงแค่ภารกิจตาม MOU ด้วยการขับเคลื่อนการเสริมสร้าง "กำลังใจ" ด้วยการวางระบบในการทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดซ้ำได้รู้สึกมีคุณค่าที่จะอยู่ในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านที่เขาอาศัย พร้อมทั้งชักชวนให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชีวิตและสังคมโดยรวม เช่น การเสริมสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ การร่วมกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม งานประเพณีต่าง ๆเพื่อเป็นการเสริมแรงบวก นอกเหนือจากการช่วยกันระแวดระวัง และหากมีเรื่องอื่นใดที่กระทรวงมหาดไทยสามารถช่วยเหลือในกิจกรรมงานกระทรวงยุติธรรมได้ เราพร้อมช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ในโอกาสอันสำคัญ คือวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้ ขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวมหาดไทย ร่วมแสดงเจตจำนงในการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำจากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ด้วยการร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ เพื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสาธารณชนว่า พวกเราทั้ง 6 หน่วยงานมีความเต็มใจและตั้งใจที่จะช่วยกันทำให้ความตั้งใจของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงยุติธรรม จะประสบความสำเร็จ เกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชน อันจะส่งผลทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน