X
วันไหลสงกรานต์ จากงานประเพณีสู่ความสนุกสาดน้ำต่อเนื่อง

วันไหลสงกรานต์ จากงานประเพณีสู่ความสนุกสาดน้ำต่อเนื่อง

19 เม.ย 2567
360 views
ขนาดตัวอักษร

แม้จะสิ้นสุดวันสงกรานต์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่จะเห็นได้ว่าบางพื้นที่ยังคงมีการเล่นสงกรานต์กันอยู่ ตามประเพณีวันไหล เราเลยขอพาไปรู้จักเรื่องราวของวันไหลนี้กัน


วันไหลสงกรานต์ มีชื่อเดิมคือ ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล มีจุดเริ่มมาจากวันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อๆกันมาในภาคตะวันออก และเขตภาคกลางบางจังหวัด โดยจะกำหนดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6วัน ชาวบ้านจะนิยมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา การก่อเจดีย์ทรายก็คือการขนทราย หาบทรายมากองสูงแล้วรดน้ำเอาไม้ปั้นกลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ ปักธงทิวต่าง ๆ ตกแต่งกันอย่างวิจิตบรรจง องค์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เพื่อก่อให้ครบ 84,000 กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ 


เมื่อก่อเสร็จพระเจดีย์ทรายแต่ละกองก็จะมีธงทิว พร้อมด้วยผ้าป่า ตลอดจนสมณบริขารถวายพระ พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงพระเสร็จก็เลี้ยงคนที่ไปร่วมงานเป็นการสนุกสนานในเทศกาลตรุษ ผลที่ได้เมื่องานเสร็จแล้ว ทางวัดก็ได้ทรายไว้สำหรับสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัดหรือถมบริเวณวัดพระสงฆ์ก็ได้เครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ช่วงปลายฤดูร้อนจะย่างเข้าฤดูฝน วัดใดที่ใกล้ห้วย หนอง คลอง บึง ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา วัดก็จัดประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลขึ้น วิธีการก็คือขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลมาลงรวมขังอยู่ตามคลอง หนอง บึง เป็นการขนทรายเข้าวัด และเป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วย การรวมแรงคนเพื่อร่วมบุญขุดลอก ให้สะอาดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะได้ไหลสะดวก คู คลอง หนอง บึง ไม่ตื้นเขิน หมู่บ้านสะอาด น้ำก็ไหลได้ตามปกติ ไม่ขังเจิ่งท่วมที่นั่นที่นี่ นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการก่อพระทรายน้ำไหลในเทศกาล 


งานประเพณีนี้ชี้ให้เห็นความเจริญของวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นอย่างดี แต่ด้วยสภาพของบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญทางวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การขนทราย โกยทราย หาบทราย เข้าวัดคนละหาบสองหาบก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นซื้อทรายเป็นรถๆ ขนกันอย่างสะดวกสบาย และหลายวัดก็หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ทราย คู คลอง หนอง บึง ที่ทรายเคยซัดไหลมารวมกันก็ตัดเป็นถนนแปรสภาพจาก คู คลอง หนอง บึง ไปเกือบหมด จนแทบไม่มีการลอก คู คลอง หนอง บึง ในบริเวณใกล้ ๆ วัด งานก่อพระทรายน้ำไหลก็เปลี่ยนสภาพไป วัดต่าง ๆ หลายวัดไม่มีเจดีย์เป็นพุทธบูชา มีแต่เจดีย์ใส่กระดูกผี คำว่าเจดีย์ทรายก็หมดความหมายไป ก่อพระทรายเอาบุญก็เปลี่ยนสภาพไปพัฒนาไปตามกาลเวลา ก่อพระทรายน้ำไหล จึงเรียกสั้น ๆ ลงเหลือแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล”


แต่ยังคงไว้ซึ่งกิจกรรมทำบุญตักบาตร และทรงน้ำพระพุทธรูป การก่อพระเจดีย์ทราย การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การเล่นสาดน้ำและการละเล่นพื้นบ้าน

ฉะนั้นสำหรับใครที่ยังเล่นน้ำไม่จุใจในวันสงกรานต์2567 ก็ยังสามารถเล่นน้ำกันต่อได้ในวันไหล รวมถึงบางพื้นที่ที่ยังจัดกิจกรรมให้ได้เล่นน้ำกันต่อเนื่อง ได้แก่


กรุงเทพฯ 

10-21 เมษายน 2567 : งานสงกรานต์ 2567 ไอคอนสยาม และ เซ็นทรัลเวิลด์


สมุทรปราการ

19-21 เมษายน 2567 : ประเพณีสงกรานต์พระประแดง 


ฉะเชิงเทรา

21 เมษายน 2567 : วันไหลตลาดโรงสี บริเวณลานหน้าตลาดพระโรงสี อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา


ชลบุรี

18-19 เมษายน 2567 : ประเพณีวันไหลเมืองพัทยา 

19-20 เมษายน 2567 : งานสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าว ณ เกาะลอย 

20 เมษายน 2567 : งานประเพณีวันไหลบางเสร่ 


ระยอง

19-21 เมษายน 2567 : วันไหลมาบตาพุด บริเวณวัดมาบตาพุด 

21 เมษายน 2567 : วันพระทรายน้ำไหล 

26-28 เมษายน 2567 : งานวันไหลไฟกะลา ครั้งที่ 9 ณ วัดบ้านดอน


ตราด

21 เมษายน 2567 : วันไหลเกาะช้าง ณ สนามบินเกาะช้าง จังหวัดตราด

26 เมษายน 2567 : วันไหลแหลมงอบ ณ เทศบาลตำบลแหลมงอบ จังหวัดตราด



เชียงใหม่

21-27 เมษายน 2567 : วันไหล ณ เขื่อนแม่กวง เล่นสงกรานต์ในน้ำ 


นครพนม

19-20 เมษายน 2567 : วันไหลสงกรานต์ อำเภอโพนสวรรค์ 


ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล