อาจารย์หมอ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ห่วงสถานการณ์โรค ฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ส่อระบาดหนัก เผยภาพอาการป่วยล่าสุด สังเกตดูได้ยากมากขึ้น เชื้อมีทั้ง ที่ไม่แสดงอาการ และแสดงอาการ แต่มีแผล ตุ่ม หนอง ขนาดเล็ก แถมยังซ่อนอยู่ในร่มผ้า แต่มีข่าวดี คนที่เคยปลูกฝี จะมีภูมิคุ้มกัน ฝีดาษคน และฝีดาษวานร ได้นานถึง 88 ปี โดยไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น และผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร ภายใน 11 วัน ฉีดวัคซีนป้องกันได้ ร้อยละ 96 รวมถึงมีทางเลือกใช้ ยาโมลนูพิราเวียร์ ช่วยลดเชื้อฝีดาษวานรได้ ซึ่งทีมงาน Backbone MCOT ได้รวบรวมข้อมูลจาก อาจารย์แพทย์ และแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส มาแนะนำ...
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ระบุว่า
คนที่เคยปลูกฝี สามารถมีระดับภูมิคุ้มกัน ที่ป้องกันโรคฝีดาษ ได้นานถึง 88 ปี โดยไม่ขึ้นกับจำนวนครั้ง ที่ฉีดวัคซีนกระตุ้น เพราะคนที่ได้รับวัคซีนกระตุ้น ก็ไม่ได้มีระดับภูมิคุ้มกัน ที่สูงกว่าคนที่ฉีดเพียงครั้งเดียว อย่างมีนัยสำคัญ
(ขอบคุณข้อมูลจาก Dr Judd Chontavat)
คนปลูกฝีกันไข้ทรพิษ กันฝีดาษลิงได้ ภูมิอยู่นาน 88 ปี ข้อมูลนี้น่าสนใจมากครับ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันจากการปลูกฝี (Immunity from smallpox vaccine) ใน Am J Med (American journal of medicine) ปี 2008 (พ.ศ. 2551) ทำการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษ (Vaccinua IgG) และความสามารถในการป้องกันโรค (neutralizing Ab titer, NAb) ในประชากร 246 คน โดย 209 คน เคยได้รับการฉีดวัคซีนฝีดาษ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เมื่อ 13 - 88 ปี โดยเจาะเลือดเก็บไว้ตรวจเป็นระยะมาก่อน, 8 คน มีประวัติเป็นฝีดาษตอนเด็ก, 29 คน ไม่มีทั้งประวัติการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนฝีดาษ
พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษไม่ลดลง แม้ในกลุ่มได้รับวัคซีนมาแล้ว 88 ปี รวมถึงระดับ NAb และพบว่า titer ของระดับภูมิคุ้มกัน ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษได้ คือ 32 ซึ่งมีคนไข้มากกว่า 97% ที่มีระดับภูมิคุ้มกันระดับนี้
สรุป คือ จากการศึกษานี้ พบว่า ส่วนใหญ่ คนที่เคยปลูกฝี สามารถมีระดับภูมิคุ้มกัน ที่ป้องกันโรคฝีดาษ ได้นานถึง 88 ปี โดยไม่ขึ้นกับจำนวนครั้ง ที่ฉีดวัคซีนกระตุ้น เพราะคนที่ได้รับวัคซีนกระตุ้น ก็ไม่ได้มีระดับภูมิคุ้มกัน ที่สูงกว่าคนที่ฉีดเพียงครั้งเดียว อย่างมีนัยสำคัญ
Link บทความ
https://www.amjmed.com/article/S0002-9343(08)00840-1/fulltext
และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 นพ.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ ได้โพสต์อัปเดตข้อมูล เกี่ยวกับวัคซีนฝีดาษวานร ในเฟซบุ๊ก DrJudd Chontavat เปิดเผยว่า
ภูมิคุ้มกันของคนรุ่นเก่า ที่ได้รับการปลูกฝี จากวัคซีนเชื้อเป็น (live Vaccinia virus) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้อยู่นานกว่าวัคซีนรุ่นใหม่ เช่น Jynneos, Imvanex ซึ่งเป็นวัคซีน ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่เตรียมจากไวรัส ที่สูญเสียความสามารถ ในการแบ่งตัวไปแล้ว (replication-incompetent Vaccinia) เช่นที่ทหาร ในกองทัพอเมริกาเหล่านี้ได้รับ จะเห็นได้จาก การมีจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง เพิ่มขึ้นชัดเจน
ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ real world data ในคนรุ่นเก่า ที่ได้รับวัคซีนรุ่นแรก ซึ่งเป็น live Vaccinia virus ถ้าไปสัมผัสเชื้อฝีดาษลิงแล้ว จะป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่าจริงไหม ถ้ามีออกมา และพิสูจน์ได้ว่า จริง ...จะยิ่งสนับสนุนข้อมูลจาก Am J Med ที่เคยโพสต์ไปแล้ว
อ้างอิงโพสต์ : Number of Monkeypox Cases in the Military Climbs Tenfold in Less than 4 Weeks
https://www.military.com/daily-news/2022/08/05/number-of-monkeypox-cases-military-climbs-tenfold-less-4-weeks.html
นอกจากนี้ นพ.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ ได้โพสต์ภาพ และข้อมูลโรคฝีดาษวานร ระบุว่า ลักษณะตุ่มของฝีดาษลิง ที่ระบาดช่วงนี้ครับ
ด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ระบุว่า ข้อมูลใหม่จากทีมวิจัย “ฝรั่งเศส” บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีน ให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิด กับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ภายใน 11 วัน ยังสามารถป้องกัน การติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ได้ถึง 96% โดยยังคงพบผู้ติดเชื้อ 4% (Monkeypox Breakthrough Infections) แต่ไม่แสดงอาการ ของโรคที่รุนแรง ในขณะเดียวกัน ทีมวิจัยจาก “เบลเยียม” พบว่า ไวรัสฝีดาษลิง สามารถแพร่ติดต่อกันได้ โดยไม่แสดงอาการ (Asymptomatic infection) ถึงร้อยละ 1.3 ในกลุ่มของชายรักชาย ทำให้ระบบการเฝ้าระหว่าง ไวรัสฝีดาษลิงทั่วโลก ควรให้ความสำคัญ กับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ไม่น้อยไปกว่า ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ
ทีมวิจัยจาก “ฝรั่งเศส” ได้ติดตามอาสาสมัคร ผู้ที่ได้รับวัคซีน (IMVANEX) หนึ่งโดส หลังสัมผัสกับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
วัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีน “เชื้อเป็น” มีชื่อว่า vaccinia Ankara (MVA) มีรหัสพันธุ์ทั้งจีโนม ใกล้เคียงกับไวรัสฝีดาษม้า ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรม ให้เชื้อไม่เพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ ผลิตโดย บริษัท Bavarian Nordik และได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ ตั้งแต่ปี 2556 ในยุโรป ภายใต้ชื่อทางการค้า IMVANEX
หน่วยงานระดับสูง ด้านสุขภาพของฝรั่งเศส (HAS) ได้แนะนำการฉีดวัคซีน หลังการสัมผัสจำนวน 2 โดส เว้นระยะห่าง 28 วัน เข็มแรกควรได้รับภายใน 4 วัน ภายหลังการสัมผัส กับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ที่ได้รับการยืนยันด้วย PCR และไม่เกิน 14 วันหลังจากสัมผัส
การแพร่เชื้อ ระหว่างคนสู่คน สามารถติดต่อกันได้ จากสารคัดหลั่ง จากตุ่มแผล จมูก ลำคอ ช่องคลอด ทวารหนัก ของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ไปยังผิวหนังที่เป็นแผลสด หรือเยื่อบุผิวในปาก จมูก ช่องคลอด ทวารหนัก ฯลฯ ของผู้ใกล้ชิด หรือจากการติดเชื้อทางอ้อม จากพื้นผิววัตถุที่ปนเปื้อน (fomites) กับสารคัดหลั่ง หนองจากตุ่ม ของผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง
ในฝรั่งเศส ผู้ที่จะได้รับวัคซีนป้องกัน โรคฝีดาษลิง (IMVANEX) หลังการสัมผัส กับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง มีข้อกำหนดดังนี้
1. มีการสัมผัส ทางผิวหนังกับผิวหนัง หรือเยื่อเมือกโดยตรง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ทางปาก ช่องคลอด ทวารหนัก กับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ที่ได้รับการยืนยัน (ด้วย PCR)
2. มีการสัมผัส ทางอ้อมกับผู้ป่วยฝีดาษลิง ผ่านสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน (fomite) เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ หรือ sex toy ที่ใช้ร่วมกัน โดยยังไม่ได้ชำระล้างฆ่าเชื้อ
3. มีการสัมผัส กับหยดละอองฝอย จากการไอจาม จากผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ที่อยู่ห่างกันน้อยกว่า 2 เมตร แต่อยู่ใกล้ชิดกัน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง
อาสาสมัคร ในงานวิจัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (91%, n=250) และ ผู้ชาย ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย (88%, n=233) โหมดของการสัมผัสรับเชื้อ คือ
1. การสัมผัส กับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ จำนวน 240 ราย (91%)
2. การสัมผัส กับผู้ติดเชื้อทางอ้อม เช่น สัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนสารคัดหลั่ง 189 (71%)
3. มีเพศสัมพันธ์ กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ป้องกัน 146 (54%)
จากอาสาสมัครจำนวน 276 ราย ...ได้รับวัคซีน IMVANEX หนึ่งโดส ภายใน 11 วัน หลังการสัมผัส กับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ยังคงพบผู้ติดเชื้อ 12 ราย (4% Monkeypox Breakthrough Infections) แต่ไม่มีอาการของโรคที่รุนแรง ชี้ให้เห็นว่า วัคซีนสามารถป้องกัน การติดเชื้อได้ดีถึง 96% แม้จะฉีดหลังการสัมผัส โดยไม่แสดงผลข้างเคียงจากวัคซีน ที่ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
อาสาสมัคร 10 ใน 12 คน แสดงอาการใน 5 วัน หลังจากการฉีดวัคซีน และอีก 2 คน แสดงอาการในวันที่ 22 และ 25 ตามลำดับ
Link บทความ
Breakthrough infections after post-exposure vaccination against Monkeypox
https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2022.08.03.22278233v1.full.pdf
สำหรับงานวิจัยจากเบลเยียม ทีมนักวิจัย ได้นำตัวอย่าง จากการสวอปบริเวณ “ทวารหนัก / คอหอย” ที่จัดเก็บด้วยตนเอง ของชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (self collected anorectal swab) ที่มารับการตรวจกรอง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่คลินิกสุขภาพทางเพศ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 จำนวน 225 ราย สามารถตรวจหาไวรัสฝีดาษลิง ด้วยเทคนิค PCR จำนวน 4 ราย ทั้งนี้ หนึ่งรายแสดงอาการ อีกสามรายมีการติดเชื้อ แบบไม่แสดงอาการ คิดเป็นการติดเชื้อ แบบไม่แสดงอาการ 1.3%
โดยปริมาณไวรัส ที่พบในทวารหนัก สูงใกล้เคียงกับตุ่มแผล ที่พบได้ทั่วไปบริเวณผิวหนัง ของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ในลักษณะที่แสดงอาการ (symptomatic infection) โดยมีค่า CT ประมาณถึง 20
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/CMGrama/posts/5260485210725883
ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 กล่าวถึง การทดลอง ยาโมลนูพิราเวียร์ ของทีมวิจัยในญี่ปุ่น เผยมีผลช่วยลดเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงได้ โดยระบุว่า
ข้อมูลเรื่อง ยาต้านไวรัสฝีดาษลิง ที่ทางทีมวิจัยในญี่ปุ่น ทดสอบออกมา พบว่า ยา TPOXX หรือ Tecovirimat มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้สูงที่สุด แต่ยาต้านชนิดนี้ ยังมีอยู่จำนวนจำกัด และเป็นที่ต้องการสูงมาก ที่น่าสนใจ คือ ทีมวิจัยได้ทดสอบยา โมลนูพิราเวียร์ ด้วย พบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสฝีดาษลิงน้อยกว่า TPOXX แต่ฤทธิ์ดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้เป็นยาต้านได้ เทียบกับยา Cidofovir ที่มีใช้ในประเทศไทย ดูเหมือนว่า โมลนูพิราเวียร์ อาจจะสามารถลดปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วยได้ไว และดีกว่า แต่ระยะเวลาการแพร่เชื้อ ดูเหมือนจะไม่ลดลง คิดว่า เป็นข่าวดี ที่เราอาจมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น
Link บทความ
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.08.02.502485v1
และ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รองหัวหน้าภาควิชา เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat กล่าวถึง ผื่นอีกแบบในฝีดาษลิง เหมือนตุ่มหนอง แต่ไม่มีหนองออกมา เจอบ่อยแถวจมูก ปาก และเยื่อบุอวัยวะเพศ Pseudo-pustule... ไว้คอยสังเกตครับ ซึ่งอาจารย์หมอธีระ ได้แชร์ข้อมูลมาจากเพจเฟซบุ๊ก Ramadermatology (ประชาสัมพันธ์ สาขาวิชาผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี) ที่ได้โพสต์ไว้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 โดยระบุว่า
ตอนนี้ เชื่อว่า คุณหมอหลายท่าน เริ่มคุ้นเคยกับผื่น ฝีดาษลิงมากขึ้นแล้วนะคะ ไม่ว่าจะเป็น จากการฟังบรรยาย / บทความ / โพสต์ต่าง ๆ
วันนี้ จะขอมา update ผื่นฝีดาษลิงอีกชนิด ซึ่งเพิ่ง describe ใน British J Dermatology เมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยแพทย์ผิวหนังชาวสเปน ได้รวบรวม ผป. ฝีดาษลิง ทั้งหมด 185 ราย และระบุว่า นอกเหนือไปจากอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น เป็นตุ่มหนองแตก เป็นแผลคล้ายสุกใส แต่ขนาดใหญ่กว่า เด่นบริเวณใบหน้า ลำตัว แขนขา และอวัยวะเพศ แล้วนั้น
ยังสามารถพบ ตุ่มนูนสีขาว (white homogenous papules) หรือเรียกว่า “pseudopustules” ได้ในผู้ป่วยระยะแรก ซึ่งบางครั้ง ลักษณะตุ่มนี้ ดูอาจคล้ายคลึงกับ ตุ่มหนอง (pustules) มาก
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ “pseudopustules” จะไม่สามารถ สะกิดเอาหนอง ออกมาได้ เหมือนกับ pustules และระยะต่อมา “pseudopustules” จะกลายเป็นแผลที่มีลักษณะ necrotic ulcer ได้ พบบ่อย บริเวณจมูก ปาก และ เยื่อบุบริเวณอวัยวะเพศ
ดังนั้น ขอเพิ่มผื่นชนิด “pseudopustules” ไว้ใน list ของผื่นฝีดาษลิงกันอีกหน่อยนะคะ
Ref: Br J Dermatol. 2022 Aug 2. doi: 10.1111/bjd.21790.
สำหรับข้อมูล Monkeypox outbreak in Spain: clinical and epidemiological findings in a prospective cross-sectional study of 185 cases
อ่านเพิ่มเติม คลิกได้ที่นี่ > (Monkeypox outbreak in Spain: 185 cases)
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : DrJudd Chontavat
https://www.facebook.com/chontavat.suvanpiyasiri.7
เฟซบุ๊ก : Center for Medical Genomics
(ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
https://www.facebook.com/CMGrama
เฟซบุ๊ก : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.h
เฟซบุ๊ก : Anan Jongkaewwattana (ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา)
https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana
เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw
เฟซบุ๊ก : Ramadermatology
(ประชาสัมพันธ์ สาขาวิชาผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี)
https://www.facebook.com/104986427555701
10 ส.ค. 2565
1990 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย