ครม.ไฟเขียว ให้ “วาฬสีน้ำเงิน-นกชนหิน” เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่ม 8 ชนิด สัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าครม.เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.ฎ.กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. กำหนดให้ วาฬสีน้ำเงิน(Balaenoptera musculus) และนกชนหิน หรือนกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามลำดับ
ส่วนร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. …. กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ทำให้จำนวนสัตว์ป่าคุ้มครอง จากเดิมจำนวน 1,316 รายการ คงเหลือ 1,306 รายการ
โดยแบ่งเป็น 2 บัญชี ดังนี้ บัญชี 1 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ ได้แก่ 1.จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน176 รายการ 2.จำพวกนก จำนวน 948 รายการ 3.จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 68 รายการ 4.จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 4 รายการ 5.จำพวกแมลง จำนวน 20 รายการ
บัญชี 2 บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ ได้แก่ 1.จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 21 รายการ 2.จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 20 รายการ 3.จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 6 รายการ 4.จำพวกปลา จำนวน 30 รายการ 5.จำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำนวน 13 รายการ
รวมทั้งเพิ่มรายการ จำนวน 8 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ ดังนี้ 1. ค่างตะนาวศรี(Trachypithecus barbei) 2. งูหางแฮ่มกาญจน์ (Trimeresurus kanburiensis) 3. ปลากระเบนปีศาจหางเคียว(Mobula tarapacana) 4. ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) 5.ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) 6.ปลาฉลามหัวค้อนเรียบ (Sphyrna zygaena) 7.ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) 8.ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna mokarran)