สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีประกาศให้ชื่อเมืองกรุงเทพฯ ที่เป็นภาษาอังกฤษใช้ได้ทั้ง Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon ทำให้นึกถึง ที่มาชื่อเมืองกรุงเทพฯ ที่สมัยก่อนตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกกันว่า "เมืองบางกอก" ชื่อบางกอกนั้นมาจากอะไร
ขออธิบายด้วย พระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง เหตุใดเมืองหลวงไทยจึงชื่อบางกอก (ในคำแปลพระสมณศาสน ฉบับที่ ๖ ข้อ ๒๕) เล่าถึงการตั้งกรุงธนบุรี โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และการดำรงอยู่ของราชธานี13 ปี .... พระราชนิพนธ์เขียนไว้ว่า เมือง (ธนบุรี) นั่นแหละ เรียกกันว่า "เมืองบางกอก" เพราะตั้งขึ้นระหว่างคลองบางกอกทั้งสอง โดยชื่อเมืองไรเล่า แม้ราชธานีของไทยบัดนี้ (คือรัตนโกสินทร์ฯ) ชาวต่างประเทศมีอังกฤษ ฝรั่งเศส .... เป็นต้น ผู้มีโวหารไม่คุ้นกับภาษามคธก็ยังเรียกกันอยู่อย่างนั้นแหละ
อธิบายความตรงนี้ คือ เมืองธนบุรี ถูกเรียกว่าเมืองบางกอกมาก่อน ที่เรียกแบบนั้น เพราะเมืองธนบุรี อยู่ระหว่างคลองบางกอกทั้งสอง คือ คลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อย (เดิมคลองทั้งสองคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ต่อมามีการขุดคลองลัด ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยปัจจุบัน ไปที่ปากคลองบางกอกใหญ่ปัจจุบัน คือตั้งแต่ตรงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ข้างโรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ ถึงปากคลองบางกอกใหญ่ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ข้างวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร การขุดคลองลัดครั้งนั้นเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระไชยราชาธิราช) เมื่อเวลาผ่านไป ความแรงของสายน้ำที่ไหลตรงทำให้คลองลัดขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแม่น้ำ ขณะที่แม่น้ำสายเดิม เหลือเพียงคลองอย่างที่เราเห็นอยู่กันทุกวันนี้)
และเป็นเพราะฝรั่งชาวต่างประเทศ ไม่คุ้นกับชื่อ กรุงรัตนโกสินทร์ ที่เป็นภาษาบาลี หรือภาษามคธทำให้เรียกชื่อลำลองที่คุ้นหูกว่า ชื่อเดิม บางกอก เป็นชื่อกรุงเทพฯมาตลอด แม้แต่คนไทยเองเราก็เรียกพระนคร หรือ บางกอก มาตั้งแต่นั้น
ส่วนคำว่า กรุงเทพฯ ในพระราชนิพนธ์ฉบับเดียวกัน ข้อถัดมาที่ข้อ ๒๙ เล่าถึงการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ มีข้อความว่า ... ทรงถือเอา พระนามพระศรีรัตนปฎิมา และนามพระนครเก่า (ประกอบกัน) ให้ขนานนามราชธานี (ใหม่) นั้นว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี ดังนี้ อนึ่ง คำว่า กรุงเทพมหานคร (ที่เรียกกันสั้นๆ)นี้ ก็(หมายความ)เพียงแต่เป็นชื่อพระนคร ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับอยู่ ... ตามถ้อยคำของชาวสยาม (คือคำว่า เทวะ หรือเทพนั้น หมายเอา พระราชา ไม่ได้หมายถึงเทวดา)
จากพระราชนิพนธ์ข้อนี้ ทำให้เราเข้าใจว่า กรุงเทพฯ มาจากพระนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มารวมกับชื่อเมืองรัตนโกสินทร์ กลายเป็นชื่อกรุงเทพฯ ชื่อยาวๆ ที่เราเคยเรียนกัน แต่เราจะเรียกกันสั้นๆว่า กรุงเทพฯ ซึ่งตามพระราชวินิจฉัยกรุงเทพฯ คือ เมืองแห่งพระมหากษัตริย์ที่มี พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ไม่ได้หมายถึงเทพยดา
ทั้งหมดคือ ที่มาของชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย ที่วันนี้มีชื่อเป็นทางการภาษาอังกฤษ 2 ชื่อ แต่เราคงเรียก กรุงเทพฯ ว่ากรุงเทพฯ เหมือนเดิม