X
บรรยากาศอโยธยาในแผ่นดินพระนเรศ

บรรยากาศอโยธยาในแผ่นดินพระนเรศ

26 ก.ย. 2564
980 views
ขนาดตัวอักษร

ย้อนสัมผัสบรรยากาศอโยธยาสมัยพระเนศวรมหาราช


หลังการประกาศอิสรภาพและสงครามยุทธหัตถี พระนเรศวรมหาราช ได้ทำสงครามแสดงบรมเดชานุภาพและความเข้มแข็งของกองทัพไทยนานหลายปี บรรยากาศของอโยธยาในเวลานั้นกลับคืนมีความมั่นคง ทั้งในฝ่ายความมั่นคงและความเจริญของราชอาณาจักร ในรัชสมัยของพระนเรศวร อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหลังการกอบกู้เอกราช เพราะเป็นช่วงเวลาของการฟื้นตัวในหลายๆ ด้าน ทั้งการค้าระหว่างประเทศและการทำนุบำรุงบ้านเมือง ภาพของกรุงศรีอยุธยา โดยในจดหมายเหตุของคณะฑูตโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาในช่วงเวลานั้น ฌาคส์ เดอ คูทร์ บันทึกไว้ใน The Memoirs and Memorials of Jacques

de Coutre: Security, Trade and Society in 16th-and 17th-century Southeast Asia สะท้อนภาพเอาไว้ว่า .... อาณาจักรแห่งนี้มีความใหญ่โตเมื่อเทียบกับอาณาจักรข้างเคียง และมีความมั่งคั่งมาก อุดมด้วยทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม ช้าง และสัตว์ทุกประเภท  พระมหากษัตริย์ทรงมีราชสำนักอยู่ที่เมืองอโยธยาซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐและแม่น้ำที่กว้างและลึกสองสาย  เมืองนั้นตั้งอยู่ที่ปากแม่... เข้ามาในแผ่นดิน ๔๐ ลีก (ประมาณ ๒๒๐ – ๒๔๗กิโลเมตร)   แม้แต่เรือกำปั่นขนาดใหญ่ที่สุดก็สามารถแล่นเข้ามาและเทียบท่าที่ริมกำแพงเมืองได้  เรือขนาดกลางสามารถแล่นเข้ามาในตัวเมืองเพราะมีแม่น้ำไหลผ่านสลับไปมา ซึ่งมีจระเข้ขนาดใหญ่อยู่นับไม่ถ้วน


ฌาคส์ เดอ คูทร์  ฉายภาพเมืองอโยธยา เกาะเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ มีน้ำท่วมทุกปียามหน้าน้ำว่า ... ในนฤดูหนาว น้ำจะท่วมทุกสิ่ง ระดับน้ำทั่วแผ่นดินจะสูงเท่ากับความยาวของไม้หลาวหรืออาจจะสูงกว่านั้น จนทำให้เนินเขาดูเหมือนเกาะ น้ำจะท่วมอยู่สองเดือนครึ่ง  ในช่วงเวลานี้ผู้คนจะเดินทางและทำการค้าขายด้วยเรือขนาดเล็กรวมกันจนเกิดเป็นตลาดขึ้น บ้านเรือนทำด้วยไม้กระดานและต้นกกสร้างให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ  


เดอ คูทร์ เล่าถึงชีวิตเกษตรกรรมของคนอโยธยาว่า .... ชนพื้นเมืองคุ้นเคยกับสภาพเหล่านี้ พวกเขาจึงหว่านเมล็ดข้าวลงในดินตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม เมื่อน้ำท่วมแล้วข้าวจะขึ้นในน้ำท่วมนั้น ด้วยวิธีนี้รวงเข้าจะขึ้นพ้นน้ำเสมอ ดังนั้นเมื่อมีผู้เห็นต้นข้าวที่ยาวเหมือนไม้หลาวและรวงข้าวอยู่เหนือผิวน้ำ พวกเขาจะทำการเก็บเกี่ยวโดยใช้เรือขนาดเล็กและใช้เคียวเกี่ยวเฉพาะรวงข้าวในช่วงเวลานี้ สถานที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบ เช่น หมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน ต้องย้ายหนีไปอยู่บนเขา  บางคนอาศัยอยู่ที่เดิมโดยย้ายไปอยู่บนเรือนสูงที่พวกเขากักเก็บปศุสัตว์ไว้ในคอกที่สร้างเหนือต้นกกจำนวนมาก


ส่วนของความเป็นเมืองที่มีพระพุทธศาสนา เดอ คูทร์ เล่าถึงความวิจิตรของวัดในสมัยนั้นว่า ... วัดวาอารามของพวกเขาสร้างบนที่สูงที่สุดในตัวเมืองที่น้ำท่วมไม่ถึง  ในยามนี้พระมหากษัตริย์จะเสด็จประพาสคล้องช้าง เพราะว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สัตว์ทั้งหมดจะอพยพไปอยู่ในภูเขา  แม้ว่าพระราชวังของพระมหากษัตริย์จะสร้างด้วยไม้แต่ถูกล้อมด้วยกำแพงอิฐหนา มีหอคอยสูงทำด้วยทองห้าหอ ประดับกระจกโลหะจำนวนมากบนผนังซึ่งทำด้วยไม้และไม้กระดาน  พระองค์ทรงมีพระแท่นราชบัลลังก์ในแต่ละหอ พร้อมด้วยพระที่นั่งที่ประดับอย่างวิจิตร มีท้องสนามอีกหลายแห่งที่ขุนนางจะรับชมมหรสพจากระเบียงบางแห่ง พระองค์จะประทับบนพระราชบัลลังก์เมื่อเสด็จออกให้เข้าเฝ้า  มีโรงช้างทั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นที่อยู่ของช้างพระที่นั่งที่ใช้ทรงเวลาเสด็จพระราชดำเนิน มีการตกแต่งอย่างหรูหรา


ในพระนครนี้ข้าพเจ้าได้เห็นวัดสำคัญ 3 แห่ง...แต่ละแห่งมีหอคอยที่สูงใหญ่มากสร้างจากหินและอิฐยึดด้วยปูน ปิดทองจากยอดลงมาครึ่งหอ มีบันได 4 แห่งปูด้วยตะกั่ว พระมหากษัตริย์ทรงประดิษฐานรูปเคารพที่ทำด้วยทองคำประดับด้วยอัญมณีมีค่าไว้ภายใน  ไม่มีผู้ใดมีสิทธิขึ้นไปบนหอคอยได้นอกจากพระองค์  หอคอยเหล่านี้ตั้งอยู่ในลานขนาดใหญ่มากที่ปูด้วยอิฐ  มีสระน้ำ 4 สระอยู่ในแต่ละมุมของแต่ละลาน มีต้นไม้จำนวนมากอยู่ตามริมสระ  รอบหอคอยมีกำแพงขนาดเล็กทำด้วยปูน ผนังแต่ละด้านประดับด้วยโกเมน บุษราคัมและอัญมณีอื่นเรียงรายกันไป อย่างไรก็ตามอัญมณีเหล่านี้ไม่มีค่ามากนัก  


สำหรับการทำการค้าของอโยธยา สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นเมือง ... ดินแดนนี้อุดมไปด้วยอาหาร สิ่งของทุกอย่างมีราคาถูกมากทำให้ราคาไม่อาจขึ้น  นอกจากนี้ยังสามารถซื้อกวางตัวใหญ่คุณภาพดีมากได้ด้วยเหรียญเงินเพียง 1 เรียล  สามารถซื้อหมูป่าได้ในราคาเท่ากัน และสามารถซื้อไก่ 20  ตัวได้ในราคาเพียงเรียลเดียว  ผลไม้ สัตว์ปีก และสัตว์ที่ล่าได้แทบไม่มีมูลค่าอะไร


ส่วนสินค้าส่งออกพ่อค้าโปรตุเกสบรรยายไว้ว่า .. อาณาจักรแห่งนี้มีสินค้าจำนวนมาก สินค้าหลักคือไม้ฝาง หนังกวาง หนังปลากระเบนชาด ตะกั่ว กำยานขาว ทาส และแร่เงินจำนวนมาก ส่วนเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนตอนนั้น ... ตัวเงินทำมาจากแร่เงิน รูปร่างเหมือนกระสุนปืนอาร์ควิบัส ประทับตรา ของพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นรูปช้างสามเศียร ตัวเงินมีค่า 7 เรียลครึ่ง ตัวเงินถูกเรียกว่า บาท(tikal) และมีเงินอีกประเภทที่เรียกว่า emas มีค่า 1 เรียลครึ่ง  สำหรับหน่วยเงินตราที่เล็กกว่าจะใช้หอยเบื้ย  สินค้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในอาณาจักรคือนี้คือสิ่งทอ


ขอขอบคุณตข้อมูลจาก เพจ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ ตอน ราชอาณาจักรสยามในรัชกาลพระนเรศ จากหลักฐานชั้นต้น



https://www.facebook.com/1046096062120530/posts/3289550577775056/?d=n

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล