พาไปดูหลักการออกแบบลวดลายโคราชโมโนแกรมใน “กางเกงแมวโคราช” ที่มีส่วนประกอบของลายปราสาทหินพิมาย – ประตูชุมพล จนเกิดเป็นกระแสดราม่าจากคนบางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำสถานที่เคารพสักการะมาอยู่บนกางเกง เหตุใดผู้ออกแบบจึงคิดค้นลวดลายนี้ออกมา มาดูกัน
ลวดลายโคราชโมโนแกรม มีจุดเริ่มมาจากการที่จังหวัดนครราชสีมา โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จัดประกวดลวดลายโมโนแกรมโคราช (KORAT Monogram) เพื่อค้นหาสัญลักษณ์ทางภาพ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สื่อถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมา มีองค์ประกอบที่ลงตัว งดงาม และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัยโดยสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองโคราชและความเป็นโคราช
จากนั้นเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี2566ใน งาน "KORAT Mamuyaa มามูย่า" ได้มีผู้ประกอบการนำเอาลวดลายโมโนแกรมโคราชมาอยู่บนกางเกง เช่นเดียวกับกางเกงช้าง โดยหวังว่าจะมีผู้ที่เห็นโอกาสนี้สามารถนำลวดลายอันเป็นอัตลักษณ์ของโคราชไปต่อยอดให้เกิดการรับรู้ที่แพร่หลาย ทำให้โคราชเป็นที่รับรู้ รู้จักในทางที่ส่งเสริมและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
ทาง เฟซบุ๊กเพจ KORAT Monogram ก็ได้มีการลงเนื้อหา เปิดแนวคิดในการออกแบบต่อยอดจากโครงการประกวดลวดลายโคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) จนไปเป็นกางเกงแมว โดย นายธงไชย ขอเพิ่มทรัพย์ คณะกรรมการจัดงาน โคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) กรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา YEC KORAT ระบุว่า “โดยแนวคิดการออกแบบสินค้าอิงกับกระแสของกางเกงช้างที่กำลังเป็นที่นิยม จึงออกมาเป็นกางเกงลายแมว ถ่ายทอดเรื่องราวของโคราชวางลงไปในกางเกง ออกแบบให้ตัวแมวโดดเด่นและได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโคราช ผ่านลายโคราชโมโนแกรม”
ส่วน คุณวีรวัฒน์ เจาวัฒนา คณะกรรมการจัดงาน โคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) อนุกรรมการฝ่ายท่องเที่ยวและการลงทุน หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา YEC KORAT ระบุเกี่ยวกับลวดลายบนกางเกงแมวว่า “แนวคิดมาจากการต่อยอด โครงการ KORAT Monogram เพื่อให้เป็นสินค้าตัวอย่างว่า ลายอัตลักษณ์โคราช ที่ประกวด มีความสามารถที่จะไปอยู่บนผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง โดยตัวผมเองเลือกที่จะลองวางลายไว้บนกระเป๋า Mini Tote bag และกระติกน้ำ ให้ดูทันสมัยมากขึ้น โดยจุดประสงค์คือเป็นต้นแบบสินค้า ให้ผู้ประกอบการจังหวัดนครราชสีมาได้เอาไปพัฒนาต่อยอด เป็นสินค้าของตัวเองหรือเอาไปประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าตัวเอง เพิ่มโอกาสในการค้าขายต่อไป”
นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคม ปี2557 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้ร่วมกับ การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) หนุนซอฟต์พาวเวอร์ผ่านดิจิคอนเทนต์ ส่ง “กางเกงแมวโคราช” เป็นแฟชั่นไอเทมใหม่ล่าสุดภายในเกม “Free Fire” เกมสุดฮิตที่มีผู้เล่นมากกว่า 568 ล้านคน จาก 160 ประเทศทั่วโลก ซึ่งภายในงานก็ได้มีการตอกย้ำถึงแนวคิดการออกแบบแต่ละลวดลายที่รวมเอาอัตลักษณ์ของเมืองโคราชมารวมกัน เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่สะท้อนวัฒนธรรม เรื่องราว และเสน่ห์ของประเทศไทย นำไปสู่การสร้างซอฟต์พาวเวอร์