3 มิ.ย.66 - เป็นงงทุกครั้ง สำหรับคอนักดื่ม เมื่อถึงวันพระใหญ่ในแต่ละปี ร้านรวงต้องงดจำหน่ายสุรา เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร เพราะอะไรถึงต้องกำหนดไว้แบบนี้
•
ถึงวันพระใหญ่แต่ละครั้ง ก็ทำเอาสังคม โดยเฉพาะสังคมนักดื่มอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เพราะอะไรภาครัฐถึงกำหนดห้ามจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกวันที่เป็นวันพระใหญ่ (วันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา เข้าพรรษาและออกพรรษา)
•
สาเหตุนั่นมีอยู่ว่า ตามที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษาวันพระ ห้ามขายสุรา
•
แต่ก็มีข้อยกเว้น อนุญาตให้ขายได้เฉพาะ “ร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ” รวมทั้งผู้ผลิตผู้นำเข้า หรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา เท่านั้น แหนะ!
•
ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
•
สำหรับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวัน ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 โดย “นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ” ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ใจความสำคัญว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐ ที่พยายามจะลดบทบาทของธุรกิจการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อหลักศีลธรรมในพุทธศาสนา และนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ต่อสังคมอีกมาก
•
ซึ่งในครั้งนั้นเองก็มีหลายความเห็น ทั้งเห็นดีด้วย และเห็นต่าง เนื่องจากมองว่าการประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันพระใหญ่ หรือวันสำคัญทางศาสนาพุทธ อาจทำให้เสียรายได้ทั้งภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจไม่เข้าใจในเหตุผลขอใการตัดสินใจนี้ได้
•
แต่ในข้อดี แน่นอนการงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ย่อมมีข้อดีอีกมาก เช่น สุขภาพอนามัยดีขึ้น ลดเหตุรุนแรงจากน้ำเปลี่ยนนิสัย ลดโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัว ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ เป็นต้น