21 ต.ค.65 - กระทรวงมหาดไทย เปิดนิทรรศการ 50 ปี “นาหว้าโมเดล” สืบสานพระปณิธาน “พระองค์หญิง” อนุรักษ์ภูมิปัญญาและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่ความยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าของชุมชน และกิจกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน“นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปีโครงการศิลปาชีพ ณ ไอคอนสยาม โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนางจิรวรรณ เพ็ญพาส อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เครือข่ายกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน และภาคีเครือข่าย ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า “หัวใจแห่งความมุ่งมั่น ที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี” ด้วยการนำเอาสิ่งที่เป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ขยายผลให้คนที่สนใจแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี พระองค์ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีในการสืบสานรักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาความเป็นไทยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ก่อให้เกิดรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลมากและส่วนใหญ่ก็เป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน แต่คนเหล่านี้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้า
ทรงพระราชทานผ่าน “ตราสัญลักษณ์โครงการนาหว้าโมเดล” ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบด้วยการนำภาพดอกจานที่เป็นดอกไม้พื้นถิ่นแถบอีสานเหนือมาจัดวางให้เป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่เปล่งประกายสดใส เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเยี่ยมบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นช่วงที่ดอกจานเริ่มบานสะพรั่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการพัฒนารูปแบบใหม่
- ซึ่งมีภาพดอกจาน 10 กลีบ สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
- มีการออกแบบรัศมีดอกจานให้วนขวา เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและความเป็นมงคล
- ส่วนตัวอักษร S สองตัวตรงกลาง หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และโครงสร้างสีส้มเป็นสีประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- และยังหมายถึงความมุ่งมั่นและพลังแห่งการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยก้าวไกลสู่ระดับสากล
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวอีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มาขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดผ้าไทยตามแนวพระดำริ ได้แก่
- ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ต้องยอมรับในเรื่องของ know-how องค์ความรู้ใหม่ ๆ ของวงการแฟชั่น
- ผ้าไทยต้องกลับมาสู่สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นผ้าไทยที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา รวมถึงชีวิตผ้าไทยและชีวิตของคนที่สวมใส่ด้วย โดยใช้ “สีธรรมชาติ” ใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติล้วน ๆ
- ยึดถือนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิถีชีวิต ด้วยการนำวัตถุดิบทั้งหลายที่จะต้องนำมาทอผ้าผลิตเป็นชิ้นผ้า รวมทั้งต้องรู้จักที่จะปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกต้นไม้ที่ให้สีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้ผ้าที่ใช้สีเคมีลดลง ซึ่งได้รับการยืนยันจากพี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาหว้าแล้วว่า คือ ผ้าสีธรรมชาติขายดีมากและได้ราคาดี
วันนี้แสดงให้เห็นว่าผ้าไทยไม่ใช่ของโบราณที่คนรุ่นใหม่แตะต้องไม่ได้ แต่ผ้าไทยกลายเป็นชิ้นงานของศิลปะที่ทันยุคทันสมัย และขณะเดียวกันผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมก็ยังได้รับการรักษาเอาไว้ด้วยการทำให้เกิดความน่าสนใจและเป็นที่นิยมมากขึ้นใน ทั้งการออกแบบลวดลายโดยเอาลายเก่ามาประยุกต์ด้วยการลดย่อขนาด เพิ่มไซส์ เพิ่มช่องว่าง กลับหัวกลับหาง เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภค ต่อมา คือ ออกแบบใหม่และพัฒนาการตัดเย็บ ซึ่งผ้าไทยสามารถตัดเย็บได้ในหลายรูปแบบ สามารถตัดเย็บให้คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ทำให้ยิ่งเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ หลักการตลาดสมัยใหม่ที่พระองค์ท่านพระราชทานผ่านคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกมา ก็จะก่อให้เกิดมิติใหม่ของวงการผ้า ทั้งในเรื่อง Packaging เรื่องของ Branding มี Story มีเรื่องราวความเป็นมา เช่น บ้านดอนกอยอำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร และทรงใช้กุศโลบายในการทรงงาน ด้วยการจะทรงหยิบชิ้นงานมาชื่นชมและเสริมองค์ความรู้ด้วยการพระราชทานพระวินิจฉัยให้คำแนะนำ เช่น ลายนาคชูสน (ของเดิม) ให้ลองลดขนาดดูหน่อยและลองทำอีกด้านหนึ่งซ้อนลงมา หรือการเพิ่มความกว้างของกี่ จาก 80 เซนติเมตรเป็น 1.5 เมตร หรือ 2 เมตร เพราะช่างทอผ้าจะเคยชินกับการทอผ้าหน้าแคบที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พระองค์ท่านก็ทรงเข้าไปจุดประกายชี้ให้เห็นว่าวงการแฟชั่นปัจจุบันต้องใช้ผ้าขนาดกว้างในการตัดเย็บ รวมไปถึงเรื่องของเฉดสีที่ต้องเป็นสีแพนโทน และช่วยกันถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน เป็นต้นดังพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยกระทรวงมหาดไทย ขอน้อมนำแนวพระดำริไปขยายผลกระจายให้ทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค ในทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้เรื่องราว “บ้านนาหว้า” ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเอง เพื่อเป้าหมาย คือ การสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าอำเภอนาหว้า เป็นปฐมบทการพัฒนาผ้าไทยในประเทศไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้รับการถ่ายทอดสู่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งจากวันนี้ “นาหว้าโมเดล” จะเป็นแบรนด์ในการทำมาหากิน เป็น Branding ที่เป็นมูลค่าเพิ่มของชีวิต โดย “คุณภาพสำคัญ” พี่น้องชาวนาหว้าต้องคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้ผ้าของชุมชนที่ถูกถักทอด้วยลมหายใจของเรา “เกิดเป็นมูลค่า” เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนนาหว้าทุกGeneration ดีขึ้น เพราะพระองค์มีพระประสงค์ให้เราได้ถ่ายทอดส่งผ่านภูมิปัญญาและการพัฒนาเหล่านี้ไปยังลูกหลานทุกวัย
สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รณรงค์ส่งเสริมให้ทุกจังหวัดประกวดประขันการออกแบบตัดเย็บภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ ทั้งชุดไปวัด ชุดไปชายหาด ชุดไปทำงาน ชุดราตรียาว ชุดเดินทาง เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและใช้อย่างกว้างขวางขึ้น และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส เพราะ “ผ้าไทยต้องใส่ให้สนุกจริง ๆ