การเสียชีวิต จากการใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีความกังวลว่า ยาที่ตนเองกำลังใช้อยู่ สามารถกินร่วมกับเหล้าหรือเบียร์ได้หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว อันตรายจากการใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์มีหลายลักษณะ ซึ่งมียาอยู่ 5 กลุ่ม ที่ควรหลีกเลี่ยง
1. ยาที่มีฤทธิ์เหมือนยาเบื่อเหล้า
ในอดีตมีการใช้ยาเบื่อเหล้า ชื่อว่า ไดซัลฟิแรม (disulfiram) เพื่อช่วยเลิกสุรา โดยเมื่อรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดปฏิกิริยาทำให้มีอาการหน้าแดง ร้อนวูบวาบไปทั้งตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก และกระวนกระวาย จนไม่กล้าดื่มสุราอีก นอกจากนี้ บางรายอาจมีความดันเลือดต่ำ แม้ว่าปัจจุบันยานี้ ถูกใช้น้อยลง แต่พบว่ามียาอื่นอีกหลายชนิด ที่สามารถทำให้เกิดอาการคล้ายกับยาเบื่อเหล้าได้เช่นกัน
2. ยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง
ยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ หลังจากรับประทานแล้ว มักทำให้รู้สึกง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้ ไม่ได้กดเฉพาะให้หลับ แต่อาจกดการทำงานอื่นๆ ของสมอง เช่น ทำให้สูญเสียความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ หรือการใช้เครื่องจักร จนถึงกดการหายใจ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในขนาดสูง ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลกดการทำงานของสมองเช่นกัน ยิ่งเสริมฤทธิ์ยาเหล่านี้มากขึ้น อาจส่งผลกดการหายใจจนเสียชีวิตได้
3. ยาที่มีผลลดน้ำตาลในเลือด
ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากอาการไม่รุนแรงอาจพบ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก ส่วนกรณีน้ำตาลต่ำรุนแรง อาจทำให้หมดสติได้
4. ยาที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร
เนื่องจากแอลกอฮอล์ สามารถทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง หรือผู้ที่ดื่มหนักบางราย ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด นอกจากนี้ การดื่มร่วมกับยาบางชนิด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร
5. ยาที่มีผลเสียต่อตับ
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็ง เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลทำลายตับโดยตรง และหากใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล ร่วมกับแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน ยิ่งเสี่ยงกับการเกิดพิษต่อตับมากขึ้น
มียาหลายชนิด ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเมื่อรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์ ซึ่งรายการยาที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทุกครั้งที่แพทย์ หรือเภสัชกรจ่ายยาเหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วย มักจะแจ้งข้อมูลรวมทั้งเขียนคำเตือนในฉลากยา เกี่ยวกับผลของแอลกอฮอล์ต่อยานั้น นอกจากนี้ ตัวผู้ป่วยเอง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ ควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรให้แน่ชัด อีกทั้งไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูลจาก :
อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล