24 พ.ค.68 - กรมลดโลกร้อน สผ. GIZ ม.รามคำแหง ร่วมกับเครือข่ายจังหวัดชุมพร เปิดตัวกิจกรรมบูรณาการภายใต้โครงการ CCMB
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดการประชุมในหัวข้อ “กิจกรรมบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในจังหวัดชุมพร” ภายใต้โครงการ Climate, Coastal and Marine Biodiversity (CCMB) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันผ่านกองทุน International Climate Initiative (IKI) โดยมีหน่วบงานที่เกีายวข้อง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม เพื่อเผยแพร่ผลการคัดเลือกพื้นที่นำร่องทางทะเลและชายฝั่งของจังหวัดชุมพรที่มีศักยภาพในการเตรียมการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
•
พื้นที่นำร่องที่นำเสนอ ได้แก่ กลุ่มเกาะร้านเป็ด-ร้านไก่, อ่าวบางสน-อ่าวน้ำเมา-กองหินสามเหลี่ยม, และกลุ่มหาดคอเขา-บ้านละแม ซึ่งจะได้รับการจัดทำแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน
ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 80 คน และได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาชนในคณะทำงานระดับพื้นที่ ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ OECMs และความเชื่อมโยงกับการจัดการพื้นที่ทางทะเลระดับท้องถิ่น (LMMA)
•
การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ CCMB ในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยมีเป้าหมายเพื่อ
1) สนับสนุนการเตรียมความพร้อมเพื่อประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) และจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์ และติดตามตรวจสอบระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง; 2) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ; 3) ประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solutions) เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ; 4) ส่งเสริมการติดตามตรวจสอบระบบนิเวศและวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen science) เพื่อสนับสนุนการบูรณาการประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน; 5) ส่งเสริมการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลาย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้รับการคุ้มครองผ่านการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ชุมชนท้องถิ่นมี ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้