25 ก.ค.64 - 3 ประสาน สธ.-สปสช.-สพฉ. จับมือจัดระบบรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยภายใน 3 วัน ปลอดภัย ลดเสี่ยง ไม่แพร่เชื้อ ไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านสายด่วน 1330
การระบาดระลอกใหม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจาก กทม.และปริมณฑล เดินทางกลับต่างจังหวัดแล้ว 31,175 คน ส่วนใหญ่เป็นอาการสีเขียว ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กำชับถึงความเป็นห่วง ต้องการให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่จะเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนามีความปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อระหว่างการเดินทาง จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสปสช. สพฉ. กระทรวงคมนาคม และกระทรวงกลาโหม จัดระบบการดูแลรับส่งผู้ติดเชื้อโควิดกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 กด15 หรือผ่านระบบออนไลน์เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุข จะทำหน้าที่ประสานโรงพยาบาลจังหวัดปลายทาง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ รวมทั้งประสานกับ สพฉ.เตรียมยานพาหนะประเภทต่างๆ นำส่งภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย โดยคาดว่าใช้เวลาประสานไม่เกิน 3 วัน ก็สามารถเดินทางกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนาได้ โดยยืนยันว่าหน่วยงารจะดูแลทั้งอาหาร น้ำดื่ม และสุขภาพตลอดการเดินทาง
ทั้งนี้ระหว่างการรอผู้ติดเชื้อต้องดูแลป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นและหากมีอาการรุนแรงขึ้นให้ประสานสายด่วน1330 และ 1668 ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อและต้องการกลับภูมิลำเนา เมื่อเดินทางไปแล้วขอให้รายงานตัวกับทางจังหวัด
ด้านทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ต้องการกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน สปสช. 1330 กด 15 ซึ่งจะเพิ่มเป็น 2,100 คู่สาย หรือติดต่อทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือการสแกนคิวอาร์โคด ซึ่งแสดงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดย สปสช.จะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทุกวันในช่วงเวลา 08.00 น.
เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องอยู่ในเกณฑ์อาการสีเขียว หากอาการรุนแรงจะส่งรถฉุกเฉินรับไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับพาหนะในการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถ บขส. และรถตู้ไว้บริการประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน โดยผู้ที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินต้องผ่านการประเมินสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการเดินทาง (Fit to Fly)
โดวจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทาง โดยรถบัส รถทัวร์ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินตามไปด้วย ส่วนรถไฟและเครื่องบินจะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามเพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน
สพฉ. จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไปรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบินเนื่องจาก กทม.มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก
ช่วงที่สองคือยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น
และช่วงที่สาม คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลจะจัดรถมารับ ทั้งนี้อยากให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับใช้ระบบบริการที่รัฐจัดให้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย