เทศกาลมหาสงกรานต์ พ.ศ. 2566 สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ เป็นประจำทุกปี โดยปี 2566 ระหว่างวันที่ 12- 14 เมษายน 2566 นี้ ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ กรมศิลปากร ได้อัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล มาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย เทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ตามความเชื่อโบราณ มาให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ และสรงน้ำขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของไทย
“เทวดานพเคราะห์” หมายถึง เทวดา 9 องค์ ที่เชื่อว่าเป็นผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ จากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือ“พระอาทิตย์” ที่มีบริวารอีก 8 องค์ สามารถให้โทษหรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ ตามความเชื่อจึงต้องมีผู้ควบคุมเหล่าเทพอุปสรรคอีกชั้นนั่นคือ “พระคเณศ” เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล
เทวดานพเคราะห์ของไทยต่างจากคติความเชื่อฮินดูที่นำความเชื่อเรื่องเทวดานพเคราะห์มาเชื่อมโยงกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนามากกว่าอิงไปในหลักศาสนาฮินดู
คนไทยแต่โบราณที่มักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับอายุตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วง “สงกรานต์” หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะบรรดาเจ้านายก็จะทำการขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่
ประติมากรรมเทพนพเคราะห์ชุดนี้ หล่อขึ้นตามแบบเทพนพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ เพราะมีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้าง
ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัวที่แสดงท่าทางและลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริง มีชีวิตชีวา รักษาเอกลักษณ์ของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างชัดเจนสันนิษฐานว่าประติมากรรมชุดนี้ น่าจะหล่อขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทยและรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก