X
เรื่องน่ารู้ ประเพณีรดน้ำดำหัว 4 ภาค

เรื่องน่ารู้ ประเพณีรดน้ำดำหัว 4 ภาค

12 เม.ย 2565
3560 views
ขนาดตัวอักษร

รู้หรือไม่? ประเพณีรดน้ำดำหัวในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากวัฒนธรรมของพื้นที่ต่างๆ นั้นแตกต่างกัน

มาดูกันเลยแต่ละภาคเป็นยังไงกันบ้าง

🔺ภาคกลาง ประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และการรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่


โดยจะสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน ทั้งพระพุทธรูปที่วัดและพระพุทธรูปที่บ้าน ซึ่งในเบื้องต้นจะนำดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระก่อน จากนั้นจึงใช้น้ำอบไทย หรือน้ำหอม ประพรมที่องค์พระพุทธรูปนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคลให้ชีวิตประสบความร่มเย็น เกิดความสุขสวัสดี ทั้งแก่ตนเอง และบุคคลในครอบครัว


ลูกหลานจะเชิญบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่นับถือ มานั่งในที่ที่จัดไว้ แล้วใช้น้ำอบหรือน้ำหอมรดใส่มือ หรือรดทั้งตัว ในระหว่างที่รดน้ำ ผู้ใหญ่ก็จะให้พรแก่ลูกหลาน แล้วจึงผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยใช้ของใหม่ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้

ชาวภาคกลางเชื่อว่าการสรงน้ำพระและการรดน้ำผู้ใหญ่ นอกจากจะปรารถนาให้บังเกิดสิริมงคล และเกิดความสุขแล้ว ยังน่าจะหมายถึง เป็นการชำระล้างมลทิน ขับไล่สิ่งอัปมงคลของปีเก่าให้หมดไป เพื่อให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และสดใสในวันปีใหม่

นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือต่อสิ่งสำคัญ ผู้มีพระคุณ ผู้อาวุโส เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี และแสดงออกถึงความกตัญญู ความรัก ความสามัคคี เมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำรดน้ำแล้ว หนุ่มสาว เด็กโต และเด็กเล็ก ก็จะเล่นสาดน้ำกันเองอย่างสนุกสนาน ประเพณีเล่นสาดน้ำแก่กันนั้น มุ่งหมายให้เกิดความสามัคคี มีความเป็นกันเอง สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน


🔺ภาคเหนือ ประเพณีการดำหัวต่อผู้หลักผู้ใหญ่ตามวิถีล้านนา

"ดำหัว" หมายถึง "สระผม"หรือ "พิธีแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสหรือผู้มีบุญคุณ ในประเพณีสงกรานต์"


ตามวิถีล้านนาเมื่อได้ขันสลุงพร้อมกับน้ำขมิ้นซอมป่อยแล้วก็นำไปเคารพสักการะแด่ผู้ที่มีพระคุณหรือผู้อาวุโส ควรให้ผู้หลักผู้ใหญ่นั่งอยู่สูงกว่า โดยให้นั่งบนแหย่งหรือบนเก้าอี้ ส่วนผู้ที่ไปดำหัวก็ให้นั่งพับเพียบ (หรือทำท่าเทพพนม) อยู่ต่ำกว่า ซึ่งผู้ไปดำหัวให้แสดงความเคารพสักการะด้วยกาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์ ยกมือไหว้แล้วกล่าวอวยพรในสิ่งที่ดีงามต่อผู้อาวุโส ขอสุมาลาโทษในสิ่งที่ได้พลาดพลั้งไป และขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งท่านก็จะยกมือไหว้รับแล้วก็ให้พรกลับต่อลูกหลาน

จากนั้นแล้วก็นำมือจุ่มลงไปในน้ำขมิ้นซอมป่อย เพื่อเป็นการแสดงการรับสุมาคาราวะความสักการะของลูกหลานและผู้ที่ไปดำหัว ต่อมาท่านก็นำมาลูบที่ศีรษะของตน ต้องระวังว่าการดำหัวไม่ใช่การนำน้ำขมิ้นซอมป่อยไป รด มือผู้ใหญ่ เพราะถือว่าเป็นการแช่ง เพราะงานที่ใช้น้ำรดมือมีอยู่สองงาน ก็คืองานแต่งงาน และ งานศพ

🔺ภาคอีสาน ประเพณี “รดน้ำดำหัว” ผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ

การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้ วัตถุประสงค์ของการรดน้ำผู้ใหญ่ คือ เพื่อเป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่

น้ำ ที่ใช้สำหรับรดดำหัวของแต่ละภาคเป็นน้ำที่ทำมาจากเครื่องหอมต่างๆ หลากหลายชนิด

สำหรับน้ำที่ใช้รดน้ำดำหัวของภาคอีสานจะใช้ความหอมจากพืชตระกูลหัว เช่น ว่านหอม ว่านนางคำ ฝนรวมกัน ได้น้ำออกขุ่น ๆ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของว่านหอม เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นหน้าแล้ง ทำให้ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหาได้ยากทางภาคอีสาน


🔺ภาคใต้ ประเพณี “รดน้ำดำหัว” หรือ "พิธีบิญจา"

ภาคใต้มีการทำ "พิธีเบญจา" หรือ "พิธีบิญจา" เป็นประเพณีรดน้ำผู้อาวุโส โดยจัดโรงพิธีแบบจตุรมุข (คือมีมุขสี่ด้านตรงกลางมียอดแหลม) ตั้งแท่นกลางโรงพิธี เบญจาถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูกตเวทิตาที่ลูกหลานหรือผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าแสดงออกซึ่งคารวะธรรม สำนึกในความกตัญญูต่อปูชนียบุคคล หรือสิ่งเคารพ เช่น พระพุทธรูป พระสงฆ์ บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้สูงอายุที่เคารพนับถือโดยการเชิญบุคคลหรือสิ่งที่เคารพนับถือขึ้นบนเบญจาเพื่อให้รดน้ำขอพร บางที่อาบน้ำให้เลย บางที่เริ่มต้นรดน้ำที่มือก่อนแล้วรดน้ำตามแขนหรือตามตัวต่อไป บางที่รดน้ำบนเพดานผ้าขาวให้น้ำตกลงบนศีรษะ บนตัวและถือเป็นการกรองน้ำให้สะอาดด้วย บางที่รดน้ำลงในลำเรือ แล้วจึงเชิญบุคคลหรือสิ่งที่เคารพขึ้นบนเบญจา จากนั้นก็เปิดน้ำจากลำเรือให้ไหนตามท่อไม้ไผ่ (ทำเป็นลำตัวพญานาค) ออกมาโปรยปรายน้ำจากปากพญานาคคล้ายนาคพ่นน้ำอาบรดให้ ซึ่งจะเปียกทั่วทั้งตัวอันเป็นที่มาของคำว่า “สระหัว” นั่นเอง เมื่อได้รดน้ำหรือปล่อยน้ำจนทั่วแล้ว อาจมีบุตรหลานหรือผู้ใกล้ชิดช่วยขัดถูที่ปลายเท้า ตามแขนขาหรือร่างกาย แล้วรดน้ำอีกเป็นอันเสร็จพิธี บางที่ขณะเริ่มพิธี พระสงฆ์จะสวดชะยันโตอวยพร หลังจากรดน้ำหรืออาบน้ำแล้ว ก็ผลัดเปลี่ยนผ้าชุดใหม่ให้ แล้วผู้อาวุโสจะให้ศีลให้พรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ร่วมแสดงความกตัญญู


น้ำที่จะนำมาประกอบพิธีจะเป็นน้ำที่ได้มาจากกลิ่นของดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหลาย ๆ ชนิดมารวมกันในขันน้ำ ไม่จำกัดว่าจะมีกี่ชนิด เพราะภาคใต้ไม่มีเทคนิคในการทำเครื่องหอม และด้วยภาพอากาศที่ร้อนชื้นของภาคใต้ ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมจะขึ้นได้เยอะ และสิ่งที่ต้องนำไปใช้ในการรดน้ำดำหัว ได้แก่ น้ำอบไทยหรือน้ำหอม น้ำส้มป่อย ดอกมะลิและดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆที่ปลูกอยู่ในบ้านก็ได้ ขันเงินหรือขันทองเหลือง พานข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน ผ้าตัดเสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)