ขยับหั่นลงอีกครั้ง สำหรับวันที่ใช้กักตัว เมื่อป่วยโควิด 19 โดย สธ. เตรียมเสนอ ศบค. หั่นจำนวนวันกักตัวเป็น 5 วัน และอีก 5 วัน ดูอาการนอกบ้านได้ จากเดิมเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ 7 วันกักตัว ให้ดูอาการ 3 วัน ซึ่งเรื่องนี้ คุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญ ออกมาแสดงความเห็นแตกต่าง อนุโลมสังเกตอาการที่ 3 วัน ทั้งยกงานวิจัย 2 วารสารชั้นนำของโลก ระบุชัด เชื้อจะลดลง หลังจาก 7 วัน ไปแล้ว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอ ศบค. ขอลดจำนวนวัน ในกระบวนการรักษา และการกักตัวของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 จากที่มีการผ่อนปรน ระยะเวลาการกักตัว แต่ก่อน 14 วัน และมาเป็น 10 วัน โดยแบ่งจำนวนวัน เป็นการกักตัวรักษา 7 วัน และอีก 3 วัน ให้สังเกตอาการ ซึ่งในวันศุกร์นี้ (8 ก.ค. 2565) คณะกรรมการแพทย์ด้านวิชาการ ได้พิจารณาลดลงเป็น 5 บวก 5 วัน คือ ให้ทำการกักตัว 5 วันแรก และใน 5 วันหลัง เป็นการสังเกตอาการ สามารถออกไปข้างนอกได้ พร้อมเตรียมจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาในวันที่ 8 ก.ค. นี้
ส่วนการจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากทางการแพทย์ สาธารณสุข และกฎหมาย ต้องมีการพิจารณาควบคู่กันให้รอบคอบ โดยเฉพาะการเยียวยา เชื่อว่า ภายหลังจากการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น การใช้ชีวิตของประชาชน จะยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในช่วงนี้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาจาก 2 ปัจจัย คือ
1. มีกิจกรรมเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะเจอในพวกงานเลี้ยงสังสรรค์ งานปาร์ตี้
2. มาจากที่เชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ใหม่ BA.4 และ BA.5 มีความสามารถในการแพร่ระบาด ติดเชื้อได้เร็วขึ้น แต่พบว่า ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากขึ้น ที่คอยตามดูอยู่ คือ ภาวะด้านการรักษา ผู้ป่วยหนักมากขึ้นหรือไม่ มีเตียงรองรับได้พอเพียงหรือไม่ ซึ่งในภาพรวมของประเทศ ผู้ป่วยหนักไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่ ตอนนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อ จะรักษาตนเองอยู่ที่บ้าน กินยาแล้วหายเองได้ และเตียงรองรับผู้ป่วย ยังมีเพียงพอ แต่ขอให้ทุกคน ยังคงมาตรการดูแลตนเอง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ
ในขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan กล่าวถึง ผู้ป่วย covid 19 ควรป้องกัน ไม่ให้เชื้อไปติดผู้อื่น โดยมีระยะนานเท่าไหร่ โดยระบุว่า
ระยะนี้ มีผู้ป่วยจำนวนมาก เวลาในการเก็บตัวของ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือป้องกันการติดเชื้อสู่ผู้อื่น จะเป็นกี่วัน ในระยะหลัง เราลดระยะลงมา จึงมีการตั้งคำถามว่า จะเอากี่วันแน่ ที่ถือว่า เป็นระยะเวลาแพร่เชื้อ
จากการศึกษา เผยแพร่ถึง 2 วารสาร คือ วารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน JAMA และใน New England Journal of Medicine ที่เป็นวารสารชั้นนำของโลก โดยดูจากการเพาะเชื้อ ถ้าไวรัสยังมีชีวิตอยู่ ก็สามารถเพาะเชื้อเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ในเซลล์เพาะเลี้ยง แสดงว่า ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
จากการศึกษา ทั้ง 2 วารสาร มีผลที่คล้ายกันมาก คือ เชื้อจะลดลงหลัง 7 วันไปแล้ว และจะพบได้น้อยมาก ต้องหลัง 10 วันไปแล้ว โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีอาการ
ระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ติดเชื้อแบบมีอาการ หรือ มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ ระยะเวลาก็ยังคงเหมือนกัน แต่ระดับปริมาณไวรัส และเปอร์เซ็นต์ การตรวจพบในผู้มีอาการน้อย จะพบได้น้อยกว่า
เช่นเดียวกัน ผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว หรือไม่ได้ฉีดวัคซีน ระยะเวลาการแพร่เชื้อ ก็ไม่ได้ต่างกัน เป็นเพียงต่างกันในปริมาณของไวรัส และอัตราการตรวจพบ ในผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว จะน้อยกว่า แต่ระยะเวลา ก็ยังคงเป็น 10 วันเหมือนเดิม ขออนุญาตเอารูปจากวารสารมาลงให้ดู
ดังนั้น ในผู้ที่ติดเชื้อ ควรกักตัว และป้องกันตัวเอง อย่างน้อย 10 วัน จึงจะนับว่าปลอดภัย แต่สำหรับบางคน เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว เอาเป็นว่า 7 วัน ที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน และพออนุโลม 3 วันหลัง ถ้าจะออกไปไหน จะต้องพึงสำนึกเสมอว่า เรายังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ จะต้องป้องกันตัวเองเต็มที่ ไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น อย่างน้อยให้ครบ 10 วัน
การตรวจ ATK ...ส่วนใหญ่ ATK จะเป็นบวก ล้อตามกับการเพาะเชื้อ แต่เราคงไม่เอาผล ATK มาเป็นตัวตัดสินว่า ATK เป็นลบแล้ว จะไม่แพร่เชื้อ เพราะผลตรวจ ATK มีความไวต่ำกว่า และผล..อาจมีผลบวกปลอม หรือผลลบปลอมได้
ในทางปฏิบัติ ผู้ที่ติดเชื้อ ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องตรวจ ATK ซ้ำ เป็นการเปลืองทรัพยากร เพราะไม่ว่า จะเป็นบวก หรือเป็นลบ เราก็จะต้องป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อ 10 วันอยู่ดี
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th
เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan (ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ)
https://www.facebook.com/yong.poovorawan
7 ก.ค. 2565
5530 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย