X
Chula Fresh Milk ตู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมอัตโนมัติ

Chula Fresh Milk ตู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมอัตโนมัติ

9 เม.ย 2567
11240 views
ขนาดตัวอักษร

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการด้านทุนการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัย เรื่อง"การขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่" โดยมี รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กิตติศักดิ์อัจฉริยะขจร เป็นหัวหน้าโครงการ คณะผู้วิจัยร่วมกับหลายหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “มีนา จุฬามีนม” เปิดตัวChula Fresh Milk Vending Machine  เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่สู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่สำหรับเกษตรกรฟาร์มโคนม สู่ประชาชนทั่วไปบุคลากรและนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโภชนาการการบริโภคนมและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการ ในวันศุกร์ที่5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคาร จามจุรี 9จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


โครงการวิจัยการขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่สู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มโคนมต้นน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาทักษะทางธุรกิจให้กับเกษตรกร ด้วยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร. กิตติศักดิ์อัจฉริยะขจร หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า “ความท้าทายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในปัจจุบันคือการขับเคลื่อนให้ยกระดับขีดความสามารถในห่วงโซ่คุณค่าเดิม เพื่อปรับตัวเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าใหม่(New Premium Milk Value Chain) ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนมที่มีคุณภาพ และจัดหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ


โครงการวิจัยฯ ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา การเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอย่างยั่งยืน ผ่านการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ ตลอดกระบวนการผลิต แปรรูปไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค กระบวนการวิจัยได้พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตรกรฟาร์มโคนมในพื้นที่เข้าสู่ห่วงโซ่ นมคุณภาพพรีเมียม “ Dairy Premium Local Enterprise (DPLE)” โดยศึกษารูปแบบการตลาด (Marketing) และการสร้างแบรนด์ (Branding) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของสินค้าชุมชนสู่ตลาดเมือง โดยการคัดเลือกฟาร์มโคนมที่สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพสูงและมีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการจากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาร่วมกระบวนการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจนได้ผลิตภัณฑ์นมที่มีอัตลักษณ์เป็น Exclusive Single Source Dairy Premium Products ของแต่ละพื้นที่เพื่อผลิตสินค้าและร่วมกันจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มการตลาดจุฬาเฟรชมิลค์ Chula Fresh Milk ปัจจุบันมีอย่างน้อย 5 ผู้ประกอบการที่เป็นต้นแบบเกษตรกรที่มีศักยภาพสูงในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของสินค้า ได้แก่

1. เลิศฤทธิ์ฟาร์ม จ.สระบุรี – ฟาร์มโคนมอินทรีย์ที่ผ่านการรับรอง มีผลิตภัณฑ์น้ำนมสดพาสเจอร์ไรซ์ และกรีกโยเกิร์ตจากน้ำนมอินทรีย์100% ปราศจากนมผงและสารปรุงแต่งใดๆ มีเนื้อสัมผัสที่เข้มข้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

2. นางฟ้าวัวน้อยฟาร์ม จ.สระบุรี - Young Smart Farmer ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการฟาร์ม สามารถผลิตภัณฑ์น้ำนมดิบที่มีคุณภาพเพื่อนำมาแปรรูปเป็นโยเกิร์ตพร้อมดื่มรสชาติต่างๆ โดยการผสมผสานเนื้อผลไม้ ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

3. อินทร์แปลงฟาร์ม จ.ชุมพร – ฟาร์มโคนมของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผลิตนมคุณภาพสูง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมรสชาติต่างๆทั้ง นมช็อกโกแลตจากโกโก้ อ.สะทิงพระ นมชาไทยจากใบชาที่ขึ้นชื่อในการทำชาชักจาก จ.สตูล นมกาแฟโรบัสต้า จ.ชุมพรที่เป็นมหานครโรบัสต้า แหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่มีชื่อเสียง ช่วยสนับสนุนทั้งเกษตรกรฟาร์มโคนมและชาวสวนกาแฟ จ.ชุมพร

4. อิมม์ฟาร์ม จ.ลำพูน – ฟาร์มโคนมที่เลี้ยงโคนมพันธุ์เจอร์ซี่ ทำให้ได้น้ำนมดิบที่มีความเข้มข้น ผลิตภัณฑ์กรีกโยเกิร์ตและสมูทตี้โยเกิร์ตจึงมีเนื้อสัมผัสเข้มข้น หอม มัน น้ำนมจากโคพันธุ์เจอร์ซี่ มีไขมันเนยสูงจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแปรรูปเป็นเนยสดแท้ เนยสดแท้ Farm made butter จากวัตถุดิบภายในประเทศที่ผลิตโดยคนไทยแต่คุณภาพทัดเทียมเนยจากประเทศต้นกำเนิด

5. ราชาฟาร์ม จ.อุดรธานี – น้ำนมโคสดคุณภาพสูงจากดินแดนที่ราบสูง แปรรูปเป็นกรีกโยเกิร์ตเนื้อครีมมี่พร้อมช็อกโกแลตซอส ทานคู่กับเนื้อมังคุดแท้อบกรอบ เกิดเป็นความอร่อยจากส่วนผสมที่ลงตัวพร้อมประโยชน์ต่อสุขภาพที่มากขึ้นด้วยคุณค่าโปรตีน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีพร้อมสารต้านอนุมูลอิสระจากมังคุดจันทบุรี ต่อยอดธุรกิจฟาร์มให้เป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์จากนมด้วยไอเดียสร้างสรรค์

ทางคณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดในรูปแบบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือVending Machine ภายใต้ชื่อ “Chula Fresh Milk” เพื่อขยายช่องทางการกระจายสินค้าของเหล่าเกษตรกรจากพื้นที่ชุมชนต่างๆสู่ตลาดเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือVending Machine เป็นหนึ่งในโมเดลทางการตลาดที่คณะวิจัยมองว่ามีศักยภาพ และสามารถยกระดับการนำเสนอสินค้าพรีเมียมของ Local Farm Dairy Products ได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งเป็นช่องทางการขายที่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรในพื้นที่มีความสามารถในการลงทุน เมื่อเทียบกับการสร้างหน้าร้านซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า การมีแพลตฟอร์มการขายในรูปแบบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ “Chula Fresh Milk” อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โดยทำการทดสอบตลาดภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนารูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business unit) ที่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการขยายธุรกิจของเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าน้ำนมใหม่ โดยการยกระดับประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจของเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดการขยายตัว ทั้งในท้องถิ่นและเชื่อมต่อสังคมเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้เพิ่มจากผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของโครงการวิจัยฯ ปัจจุบันตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ “Chula Fresh Milk” ตั้งบริการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์นมแปรรูปภายใต้โครงการวิจัย ฯ ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 จุด คือ โถงชั้นล่าง อาคารจามจุรี 9  และโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  



Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล