กรมการแพทย์ สถาบันโรคทรวงอก แนะวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากดูแลตนเอง และรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส ซึ่งวัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย และบริเวณที่พบการติดเชื้อวัณโรคมากที่สุดก็ คือ ปอด เชื้อวัณโรคติดต่อผ่านทางระบบหายใจ โดยการแพร่เชื้อด้วยการไอ จาม ละอองฝอยเสมหะที่ออกมาจากผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคในปอด กระจายอยู่ในอากาศ และตกลงสู่พื้น ผู้ที่สูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อ และป่วยเป็นวัณโรคได้ นอกจากการติดเชื้อที่ปอดแล้ว เชื้ออาจจะกระจายไปส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น สมอง กระดูก ต่อมน้ำเหลือง ไต ผิวหนัง
อาการของวัณโรค
- จะมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์
- มีไข้ต่ำๆ อาจมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก
- ไอ มีเลือดปนออกมา
หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ ไอแห้ง มีเสมหะปนเลือด หรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยการเอกซเรย์ดูความผิดปกติของปอด ตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อวัณโรค
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค สามารถรักษาให้หายได้
โดยการรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่งอย่างน้อย 4 ชนิด เป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
-พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
-ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
-งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ระหว่างรับประทานยารักษาวัณโรค
การรักษาด้วยการใช้ยา อาจมีอาการข้างเคียงได้บ้าง เช่น เป็นตับอักเสบ มีผื่นขึ้นตามตัว ผิวหนังเป็นรอยช้ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน สายตา ฝ้าฟาง มองไม่ชัดเจน หูอื้อ เดินเซเสียการทรงตัว หากเกิดปัญหาจากการใช้ยาอย่าพึ่งหยุดยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรับการใช้ยาให้เหมาะสม
สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือเริ่มรับประทานยาได้ 2 สัปดาห์ ควรแยกห้องนอน หลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาไอ จาม บริเวณที่อยู่อาศัยควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ไม่บ้วนเสมหะ หรือน้ำลายลงพื้น รับประทานยาให้ครบทุกเม็ดตามแพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที