กรมวิทย์ฯ เผยผลศึกษา ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร 30 คนที่ได้รับวัคซีน โรคฝีดาษมากกว่า 40 ปี ปรากฏไม่มีภูมิคุ้มกัน 28 ราย มีเพียง 2 รายที่ผ่านเกณฑ์ และไทยได้สั่งวัคซีน ป้องกันโรคนี้แล้ว 1,000 โดส เพื่อใช้กลุ่มที่มีความเสี่ยง รวมทั้งเด็กเล็ก ย้ำ.. โรคฝีดาษวานร ไม่ได้ติดต่อกันง่าย เลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง หรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก
วันนี้ (5 กันยายน 2565) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ แถลงข่าว “ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox)” สายพันธุ์ B.1 และ A.2 จำนวน 30 คน พบว่า ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกัน ไม่ขึ้นในระดับป้องกันโรค มีเพียง 2 ราย มีภูมิคุ้มกัน ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า โรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox) พบครั้งแรกในลิง เมื่อปี พ.ศ. 2501 จากนั้นได้เริ่มมีการรายงาน พบการระบาดในคน ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งประมาณร้อยละ 70 เป็นการแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน และกลายเป็นโรคประจำถิ่น แถบประเทศแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า พบผู้ป่วยสงสัย ติดเชื้อฝีดาษวานร จำนวน 4,594 ราย เสียชีวิต 171 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.7 และมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 กันยายน 2565 ผู้ป่วยยืนยัน 50,327 ราย ตาย 15 ราย โดยพบใน 100 ประเทศ
ในขณะที่มีรายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกัน โรคฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานร ได้ร้อยละ 85 ดังนั้น จึงมีคำถามว่า คนไทยที่รับวัคซีนฝีดาษ เมื่อ 40 ปีก่อน จะมีภูมิคุ้มกัน ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ ไวรัสฝีดาษวานรได้หรือไม่ ? กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้นำซีรัมจากอาสาสมัคร ที่ได้รับวัคซีนโรคฝีดาษคน มานานกว่า 40 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 45 - 54, 55 - 64 และ 65 - 74 ปี มาหาระดับภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ B.1 (พบในยุโรป) และ A.2 (พบในแอฟริกา) ที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อ ที่พบในประเทศไทย มาทดสอบโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน เพื่อหาค่าที่ไวรัสฝีดาษวานร เชื้อเป็นถูกทำลายได้ครึ่งหนึ่ง หรือ ที่เรียกว่า PRNT Titer 50%, PRNT50 โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น หลังฉีดวัคซีนฝีดาษคน ซึ่งระดับแอนติบอดี titer มากกว่า หรือ เท่ากับ 32 (PRNT50 ≥ 32) ถือว่าคนนั้น มีภูมิคุ้มกันที่สามารถ ลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้
ซึ่งผลการทดสอบ พบว่า ในอาสาสมัคร ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษ มานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกัน ต่อไวรัสฝีดาษวานร ทั้ง 2 สายพันธุ์ มีเพียง 2 ราย ที่พบมีระดับภูมิคุ้มกัน มากกว่า 32 (PRNT50 titer>32) ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของ ไวรัสฝีดาษวานรได้ ในจำนวนนี้ พบ 1 ราย มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 สายพันธุ์ สรุปได้ว่า คนส่วนใหญ่ ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เมื่อ 40 ปีก่อน ไม่มีภูมิคุ้มกัน ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ ไวรัสฝีดาษวานรได้
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของวัคซีนนั้น หากมีวัคซีนเข้ามา จะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมาก เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ, คนสัมผัสใกล้ชิด และกลุ่มเสี่ยง ที่มีประวัติไปสัมผัสโรค ก็อาจฉีดให้ เพื่อลดความรุนแรงของโรค หากถามว่า จำเป็นต้องนำมาฉีดกับคนทั่วไปไหม ขณะนี้ ยังไม่จำเป็น เนื่องจาก ขณะนี้สายพันธุ์ ที่แพร่ระบาดส่วนใหญ่ เป็น BA.2 ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง ยกเว้นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือคนที่เป็นโรคบางอย่าง ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อย รวมทั้งเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่าโรคฝีดาษวานร ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัส ผื่นผู้ป่วยทางผิวหนังโดยตรง หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ ที่มีความเสี่ยง หรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางราย ที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และในเด็กเล็ก ดังนั้นมาตรการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง สามารถนำมาใช้ ในการป้องกัน โรคฝีดาษวานรได้
ปัจจุบัน ประเทศอเมริกา และยุโรป ได้ให้การรับรอง วัคซีนจีนนีออส (JYNNEOS) เพื่อนำมาใช้ป้องกัน โรคฝีดาษลิง ในกรณีฉุกเฉินแล้ว ส่วนประเทศไทย ได้มีการนำเข้าวัคซีนดังกล่าว จากประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับป้องกันโรค ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงแล้ว จำนวน 1,000 โดส
นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ การปลูกฝี และ วัคซีนป้องกันฝีดาษ ซึ่งประเทศไทย ได้เลิกปลูกไปเมื่อใด ? พร้อมมีภาพประกอบ ลักษณะของแผล ที่เกิดจากการปลูกฝี มาเพิ่มเติมดังนี้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า ผมเองจบแพทย์ในปี พ.ศ. 2517 และได้เรียนทางเด็กต่อ ในปี พ.ศ. 2518 ก็ไม่ได้มีการปลูกฝี ในโรงพยาบาลจุฬาแล้ว หลานผมเกิด ในปี 2518, 2520 และลูกเกิด มกราคม 2523 ได้รับการฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรคอย่างเดียว ไม่ได้ปลูกฝีแล้ว ดังแสดงในรูป
ผมอยู่ในเหตุการณ์ตลอด และยังได้เคยปลูกฝี ให้กับเด็กด้วย ในช่วงจบใหม่ ๆ ยังจำได้ มาทำคลินิก แถวตรอกจันทร์ ในปี 2521 คนจีน มักจะถามว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ ไม่ปลูกฝีแล้วหรือ การปลูกฝี เป็นที่ยอมรับของคนจีนเป็นอย่างมาก
อเมริกา และยุโรป เลิกปลูกฝี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ต้น หรือประมาณ 2513 ถึง 2514 ประเทศไทย เลิกปลูกฝีในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ประมาณปี 2517 ถึง 2518 แต่ขณะนั้น ยังเลิกไม่ได้เด็ดขาด แต่การปลูกลดน้อยลงมาก เพราะไม่มีโรคฝีดาษ ในประเทศไทยมานานมาก ให้ดูแผลเป็นที่หัวไหล่ ถ้ามีการปลูกฝี และ ป้องกันวัณโรค จะมี 2 แผลเป็น
ประเทศสุดท้าย ที่มีโรคฝีดาษ คือ ประเทศโซมาเลีย ในปี พ.ศ. 2520 และ องค์การอนามัยโลก ประกาศยกเลิก การปลูกฝี และถือว่า ได้กวาดล้างโรคฝีดาษ ให้หมดไปแล้วในปี 2523 ทั่วโลกจึงได้มีการยกเลิก การปลูกฝีอย่างเป็นทางการ ประชากรในยุโรป และอเมริกา ที่อายุเกินกว่า 50 ปี จึงไม่ได้รับการปลูกฝี ส่วนประเทศกำลังพัฒนา เลิกปลูกฝี มาประมาณ 40 ปี ประเทศไทยเลิกก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และไปเลิกเด็ดขาด ตามองค์การอนามัยโลก ในปี 2523
และสำหรับผู้ที่สนใจ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคฝีดาษวานร ทั้งที่มาที่ไปของโรคนี้ และความคืบหน้าทางวิชาการ ติดตามได้จากเพจของอาจารย์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (มีลิงก์ ด้านล่างบทความ)
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th
เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan (ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ)
https://www.facebook.com/yong.poovorawan
5 ก.ย. 2565
720 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย