การทำความเข้าใจ วันเสาร์ห้า วันที่เชื่อกันว่า เป็นวันแรง วันแข็ง วันดี วันที่ควรประกอบพิธีมงคล ปลุกเสกวัตถุมงคลจะมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง ยังมีความเข้าใจสับสนกันเยอะ มาทำความเข้าใจ วันเสาร์ห้า ด้วยการทำความเข้าใจคำ 2 คำ คือ วันเสาร์ กับ ห้า
วันเสาร์ ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ วันเสาร์เกิดจากพระศิวะเอาเสือที่เป็น พยัคฆราช สิบตัวมาป่นให้เป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าสีม่วง เสร็จแล้วประพรมด้วยน้ำอมฤต ทำให้เกิดเทพเจ้า มีพระนามว่า พระเสาร์เทวราช เป็นเทพเจ้าสำหรับคนเกิดในวันเสาร์
ส่วน ห้า ในความหมายของเสาร์ห้า มาจาก วันเสาร์ ข้างขึ้นหรือข้างแรม 5 ค่ำ เดือน 5 วันเสาร์ห้า จึงไม่ใช่วันเสาร์ที่ 5 เดือน…. ตามปฏิทินสากล โอกาสที่จะมีวันเสาร์ห้า ตามตำราว่าเป็นวันแข็ง วันแรง วันมงคล จึงค่อนข้างยากหนึ่งปีจะมีเสาร์ห้าตรงตามตำราที่ใช้ปลุกเสกวัตถุมงคลหรือทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ไม่กี่ครั้งในแต่ละปี
วันเสาร์ห้า ทำอะไร ? วันเสาร์ห้าที่มีความแรงสมบูรณ์ ตามตำราจะต้องเป็นวันเสาร์ 5 ขึ้น หรือ แรม 5 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันที่เหมาะสมในการปลุกเสกสร้างเครื่องรางวัตถุมงคลวัตถุธาตุกายสิทธิ์ การประกอบพิธีพุทธา ภิเษกวัตถุมงคล จะบังเกิดอิทธิคุณด้านมหาอำนาจ มหาอุจจ์ เหนือกว่าฤกษ์ปรกติ
เสาร์ห้า ข้างขึ้น กับข้างแรม มีความแตกต่างกันยังไง ? การประกอบพิธีในวันข้างขึ้นจะมีความสมบูรณ์ในการสร้างความเข้มขลังได้เต็มที่ ส่วนข้างวันข้างแรมก็ถือเป็นวันดี แต่อาจจะดีน้อยลงนิดหน่อย คือถ้าวันข้างขึ้น คือ 100 คะแนน ข้างแรมก็คือ80 คะแนน
นอกจากวันเสาร์ห้า จะมีความแรงแล้ว จะให้สมบูรณ์แบบต้องดูฤกษ์และเวลาที่เหมาะที่สุดในวันเสาร์ห้านั้นด้วย ฤกษ์สำคัญคือ ช่วงเวลาที่เป็น ราชาฤกษ์ โสภณฤกษ์ และ ลาภะฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เป็นมงคล และดีทุกอย่าง หากจะประกอบพิธีอันเป็นมงคลในวันที่เชื่อว่ามีกำลังมากแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด เจตนาคติ ของคนเรา เมื่อจะทำอะไรให้ดีแล้ว ยังมีส่วนสำคัญที่สุดคือเจตนาในการทำความดี ทำสิ่งมงคล ถ้าเวลาดี วันดี เจตนาดี กระทำดีย่อมมีผลดี ถ้าเวลาดี วันประเสริฐแต่ทำเรื่องเลวร้ายย่อมไม่เกิดผลความดีขึ้นแน่นอน