การตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและสร้างพระบรมมหาราชวังบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วย้ายชาวจีนที่เคยอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันไปตั้งบ้านเรือนแถบปากคลองสำเพ็ง ชาวจีนค่อยๆ ทยอยกันมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันหนาแน่นเพื่อพำนักอาศัยและทำการค้า จำนวนคนจีนและกิจการของชาวจีนทำให้สำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าสำคัญในสมัยรัชกาลที่สามชาวต่างประเทศเรียกสำเพ็งว่า Chinese bazaar หรือ ตลาดจีน สำเพ็งเป็นย่านที่ครึกครื้นมีชีวิตชีวาจนมีคำกลอนกล่าวถึงสำเพ็งว่า
“ ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย นึกจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์ จะลำบากยากแค้นไปแดนดง เอาพุ่มพงเพิงเขาเป็นเหย้าเรือน”
ชุมชนคนจีนขยายตัวรวดเร็ว ไม่หยุดยั้ง แผ่ขยายจนล้นสถานที่ ออกพ้นวัดสามปลื้มขึ้นมาถึงคลองรอบกรุง ด้านใต้ขยายไปจนข้ามคลองวัดสำเพ็งลงไปทางบ้านญวนหรือบ้านองเชียงสือ ทางตะวันออก ขยายจากริมแม่น้ำไปตามแนวคลองวัดสามปลื้ม คลองโรงกะทะ และคลองวัดสำเพ็ง
การมาขอคนจีนนั้นไม่ได้มาเฉพาะครั้งรัชกาลที่ 1 แต่ยังมีการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเปิดโอกาสให้คนจีนอพยพกันเข้ามาระลอกใหญ่ เพื่อใช้แรงงาน ตอนนั้นยังมีช่างจีนที่นำเข้ามาเพื่อรองรับการนำศิลปะจีนเข้ามาในวัดวาอาราม ที่มีการปรับปรุง และก่อสร้างขึ้นตาม “พระราชนิยม ” ร่วมกับอีกระรอกที่เป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบาริง ที่ทำให้คนจีนเข้ามารับมือกับการขยายความเจริญของเมืองและการค้า ในสมัยรัชกาลที่ 4
สิ่งที่ตามมาพร้อมกับความหนาแน่นของเมืองที่ไม่ได้วางผังเมืองไว้ตั้งแต่ต้น คือการเกิดอุบัติภัย ก็คือ ไฟไหม้ ในย่านสำเพ็งเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต และเมื่อคนจีนปลูกสร้างบ้านเรือนกันหนาแน่นชิดที่ไก่บินไม่ตกพื้น ความเสียหายแต่ละครั้งจะรุนแรงทุกครั้งไปทั้งจำนวนบ้านเรือน ทรัพย์สิน และชีวิตผู้คน
ไฟไหม้สำเพ็งนั้นแรงหลายครั้ง ครั้งที่แรงที่สุดน่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 เป็นที่มาของจนเป็นที่มาของพระราโชบายตัดถนนเยาวราช และถนนทรงวาด รวมถึงการถนนเจริญกรุงส่วนใต้ เพื่อขยายเมืองลดความแออัด
“ ... มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้กรมโยธาธิการ สร้างถนนขึ้นใหม่สายหนึ่งแทรกลงในระหว่างกลางแห่งถนนเจริญกรุงแลถนนสามเพ็ง ตั้งต้นแต่ป้อมมหาไชยตัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าบรรจบถนนเจริญกรุง ตรงตะพานวัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) ...”พระราชทานชื่อ "ถนนเยาวราช"
ถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชยตัดลงไปทางทิศใต้บรรจบกับถนนราชวงศ์ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์)
แม้จะขยายเมืองแล้ว แต่ไฟไหม้ในย่านเยาวราช สำเพ็งก็ยังคงมีอยู่บ้าง แม้ไม่รุนแรงเท่าในอดีต เหตุผลนั้นมาจากความหนาแน่นของร้านการค้าที่ไม่เคยลดความสำคัญลง สำเพ็งยังคงเป็นย่านการค้าที่สำคัญทั้งค้าส่งและค้าปลีกที่ปรับเปลี่ยนสินค้าไปตามยุคสมัยและยังเป็นที่ต้องการอยู่ แม้จะไม่ได้ย่านพักอาศัยที่หนาแน่นแล้วก็ตามที ปัญหาเรื่องอาคารเก่า สภาพความเก่าของสายไฟฟ้า สายสื่อสารที่ไม่เป็นระเบียบ ตรอกซอยที่คับแคบยากต่อการเข้าถึงด้วยเครื่องมือบรรเทาสาธารณภัยที่ทันสมัยที่อาจมีขนาดรถใหญ่กว่าถนน ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่คาดคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรความสำคัญของย่านสำเพ็งที่เป็นดังเช่นเคยมีมาในอดีตอยู่ดี
ขอบคุณ ภาพจาก หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย