พระพุทธลักษณะที่งดงาม การเป็น พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทม์ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีพระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง รูปแบบศิลปะกำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – พุทธศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา พระนาม พระพุทธสิหิงค์ แปลว่า "งามดั่งสิงห์" พระพุทธรูปที่อกใหญ่เอวเล็กสง่างามอย่างราชสีห์
ตามตำนาน นิทานพระพุทธสิหิงค์ แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ในระหว่าง พ.ศ. 1945 - 1985 พระพุทธสิหิงค์สร้างโดยพระมหากษัตริย์กรุงลังกา เมื่อสร้างขึ้นแล้ว พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยโปรดให้พญาสิริธรรมนครแห่งเมืองสิริธรรมนครหรือนครศรีธรรมราชแต่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา จึงได้พระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานสักการบูชาสืบเนื่องมาจนกระทั่งกรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลง พระพุทธสิหิงค์ได้ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ พิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่
ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปีพุทธศักราช 2205 ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 105 ปีจนถึงพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สันนิษฐานว่า พระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญกลับไปเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงยกทัพไปเชียงใหม่ จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อพุทธศักราช 2338
พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือของชาวกรุงเทพฯ มาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ เป็นองค์ประธานในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นสิริแห่งเมืองนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ผู้คน ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง การสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองครั้งสำคัญ คือ สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงจำลองพระพุทธสิหิงค์ไว้ 3 องค์ คือ พระประธานพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม มีขนาดเท่าองค์จริง ถวายพระนามว่า "พระพุทธสิหังคปฏิมากร"
องค์ที่สอง หล่อด้วยทองคำ มีขนาดเล็กกว่าองค์จริง เป็นพระพุทธรูปประจําพระชนมวาร รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง องค์ที่สามมีขนาดใหญ่กว่าองค์จริง ประดิษฐาน ณ ชั้นมาลัยเถาด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์
การสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง หลังช่วงปี 2477 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลดำริให้สร้างรัฐธรรมนูญจำลองออกไปให้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้นทำรัฐธรรมนูญจำลองเสร็จได้อัญเชิญไปไว้ที่พระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ก่อนจะส่งไปให้กับทุกจังหวัด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์อง์จริง นัยยะเหมือนเป็นการทำให้ รัฐธรรมนูญเป็นของคู่บ้านคู่เมือง หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองขึ้นมาตั้งแต่ปี 2479 ที่กรมศิลปากรให้ทำพิธีหล่องพระพุทธสิหิงค์ที่พระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ ต่อหน้าพระพุทธสิหิงค์องค์จริง จากนั้นจึงมีการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองขึ้นต่อมา
เมื่อดูจากความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์นี้แล้ว หากจะไปขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ มีความเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ ทัดเทียมกัน และอยู่ในกรุงเทพฯ คือ พระแก้วมรหกต วัดพระแก้ว พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศ