9 มี.ค.65 - ทัพยกน้ำหนักไทย ได้ลุ้นเหรียญโอลิมปิก อีกครั้ง หลังได้ข่าวดี! สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ปชอดล็อกแบนทีมชาติไทย คืนสิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนานาชาติ ส่งนักกีฬาแข่งได้ทุกรายการ
หากจำกันได้ ในเวทีการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักระดับนานาชาติ โดยเฉพาะล่าสุดอย่างกีฬาโอลิมปิก ที่ ญี่ปุ่น ทัพนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ได้หายไปจากวงจรทัพนักกีฬาไทย ซึ่งเป็นหนึ่งกีฬาความหวังเหรียญรางวัลทุกรายการเนื่องจากเมื่อปี 2563 สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) ตรวจพบการใช้สารต้องห้ามของนักกีฬาไทยกว่า 10 คนจากการแข่งขันในรอบปีนั้น จึงมีการตรวจสอบแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระของสหพันธ์เพื่อพิจารณาบทลงโทษและได้มีการประกาศผลการตัดสินใจออกมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 ให้สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ถูกพักการเป็นสมาชิกภาพของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติเป็นเวลา 3 ปี โดยบทลงโทษจะสิ้นสุดในวันที่ 1 เมษายน 2566 และปรับเงินจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.6 ล้านบาท
•
ล่าสุดสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้รับข่าวดี! จากสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือ IWF ปลดล็อกแบน! คืนสิทธิ์การเป็นสมาชิก การโหวตออกเสียงในการประชุม เงินสนับสนุนการอบรม การส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งของสหพันธ์ฯ และการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ ทั้งหมดให้ประเทศไทยแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565 เป็นข่าวดีต่อเนื่องหลังจากที่ได้รับการพิจารณาให้สามารถกลับมาส่งนักกีฬาแข่งขันได้ก่อนหน้านี้
•
สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ อนุญาโตตุลาการศาลกีฬาโลกเมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีคำสั่งรับอุทธรณ์คำร้องของ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ตามหมายเลข CAS 2020/A/6981 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 หลังถูกคณะกรรมการอิสระ ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ออกบทลงโทษ ทั้งบุคลากร และ นักกีฬาของไทย ห้ามยุ่งเกี่ยวกับสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ 3 ปี และห้ามนักกีฬา อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงรุ่นทั่วไป ลงแข่งขันในรายการระดับนานาชาติ เป็นเวลา 5 เดือน และ 11 เดือนตามลำดับ
•
ต่อมา ศาลกีฬาโลก ได้คืนความเป็นธรรมให้กับสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่วนแรก ไปแล้วคือ นักกีฬายกน้ำหนักระดับยุวชน สามารถกลับเข้าไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ได้ เพราะโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน หมดไปตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 สำหรับนักกีฬายกน้ำหนักในระดับนอกเหนือข้างต้น คือ เยาวชน และประชาชน สามารถกลับเข้าไปร่วมการแข่งขันได้ แต่ยังถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินกิจกรรมจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2566
•
นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติแจ้งผลการติดตามการดำเนินงานของ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย จากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบผลการดำเนินการตามคำตัดสินของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ว่า สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้สิทธิ์ต่าง ๆ กลับคืนมาเหมือนเดิมแล้ว ซึ่งเป็นการปลดล็อกประเทศไทยก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในตอนแรก
•
หลังจากปฎิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมการอิสระ ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ เป็นอย่างดีมาตลอด ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้กลับคืนมานั้น จะเปิดโอกาสให้ทั้งสมาคมฯ และนักกีฬายกน้ำหนักไทยได้แสดงศักยภาพในเวทีการแข่งขันระดับชาติอีกครั้ง โดยเฉพาะมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024
•
สำหรับการแข่งขันรายการสำคัญที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักไทยจะดำเนินการจัดการแข่งขัน คือ ศึกชิงแชมป์เอเชีย2022 ที่จะจัดในเดือนธันวาคม เพื่อเก็บคะแนนไปโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส และยกน้ำหนักเวิลด์คัพ ในเดือนเมษายน 2024
•
ทำเนียบนักกีฬายกน้ำหนักไทย คว้าเหรียญโอลิมปิก
โอลิมปิก 2000
- เหรียญทองแดง : เกษราภรณ์ สุตา ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
โอลิมปิก 2004
- เหรียญทอง : ปวีณา ทองสุก ยกน้ำหนัก รุ่น 75 กก.หญิง
- เหรียญทอง : อุดมพร พลศักดิ์ ยกน้ำหนัก รุ่น 53 กก. หญิง
- เหรียญทองแดง : อารีย์ วิรัฐถาวร ยกน้ำหนัก รุ่น 48 กก.หญิง
- เหรียญทองแดง : วันดี คำเอี่ยม ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
โอลิมปิก 2008
- เหรียญทอง : ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล ยกน้ำหนัก รุ่น 53 กก.หญิง
- เหรียญทองแดง : วันดี คำเอี่ยม ยกน้ำหนัก รุ่น 48 กก.หญิง
- เหรียญทองแดง : เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
โอลิมปิก 2012
- เหรียญเงิน : พิมศิริ ศิริแก้ว ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
- เหรียญทองแดง : ศิริภุช กุลน้อย ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
โอลิมปิก 2016
- เหรียญทอง : โสภิตา ธนสาร ยกน้ำหนัก รุ่น 48 กก.หญิง
- เหรียญทอง : สุกัญญา ศรีสุราช ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
- เหรียญเงิน : พิมศิริ ศิริแก้ว ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง
- เหรียญทองแดง : สินธุ์เพชร กรวยทอง ยกน้ำหนักย รุ่น 56 กก.ชาย