จากดราม่านั่งรถทัวร์กลับเชียงใหม่ 21 ชั่วโมง โดยที่คนขับรถมีพฤติกรรมขับรถวน จอดรถนอน เนื่องจากคนขับรถมีเพียงคนเดียว แถมสถาพรถยังไม่พร้อม Backbone MCOT จะขอพาไปดูว่าการให้บริการรถทัวร์โดยสารทางไกล ที่ถูกต้องจะมีข้อกำหนดอะไรบ้างเพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร และหากไม่ตรงข้อกำหนดเราสามารถร้องเรียนได้ช่องทางใดบ้าง
ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า รถโดยสารปรับอากาศประจำทางผู้ประกอบการติดตั้งจีพีเอสเชื่อมข้อมูลกับศูนย์สำนักงานจังหวัดขนส่งทั่วประเทศและศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมฯ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ อาทิ ควบคุมการใช้ความเร็วรถไม้ให้เกิน 90 กม.ต่อชม.ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะช่วงทางโค้งและทางลาดชันต้องใช้ความเร็วต่ำลงอีก 30-40 กม.ต่อชม.
พนักงานขับรถต้องพักผ่อนเพียงพอ มีใบขับขี่รถสาธารณะถูกต้อง ตรวจวัดแอลกอฮอล์ สารเสพติด ในเส้นทางที่มีระยะทางเกิน 400 กม. ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน เพื่อเปลี่ยนกันขับ และหากขับไปได้ 4 ชม. ต้องหยุดพัก 30 นาทีแล้วเดินทางต่อ ก่อนการเดินทางทุกครั้ง ตรวจเช็คสมุดประจำรถ เช็คชม.การทำงาน ตารางวิ่ง
ตัวรถต้องตรวจสภาพรถให้พร้อมใช้งาน อาทิ ล้อรถ ดอกยางรถ กระจกหน้า กระจกข้าง ยาง เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ฉุกเฉินบนรถเช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ประตูฉุกเฉิน รวมทั้งตรวจรถที่ออกทุกสถานีขนส่งตรวจสอบความเร็วรถ ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัดต้องใช้กล้องตรวจสอบความเร็วรถเป็นระยะโดยเฉพาะช่วงที่รถให้บริการหนาแน่น
ส่วนผู้ใช้บริการ หากพบปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ สามารถแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ (ชั่วคราว) ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร หรือช่องทางร้องเรียนต่างๆ ของกรมการขนส่งทางบกซึ่งให้บริการตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ดังนี้ สายด่วน โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง, ทางเว็บไซต์http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ , E-mail: dlt_1584complain@hotmail.com, Facebook ชื่อ “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”, Line: @1584dlt, แอปพลิเคชัน DLT GPS
ทั้งนี้ ทุกปัญหาการร้องเรียนของประชาชน กรมการขนส่งทางบกจะเร่งตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบทาง SMS และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะ จนกว่าจะแก้ไขเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จ โดยมีมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุดทุกกรณี กรณีกระทำความผิดซ้ำซาก ความผิดร้ายแรงและเข้าข่ายเป็นภัยสังคม จะดำเนินการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตทันที เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน