อาจารย์แพทย์ และจักษุแพทย์ ร่วมแสดงความเห็นเป็นห่วง ภาวะหนังตาตก ซึ่งพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ เผย อาจเป็นจุดเริ่มต้น ของโรคร้ายแรง อาทิ ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง, ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ หรือ โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แพทย์แนะให้ตรวจละเอียด อย่าด่วนผ่าตัดทันที แนะนำวิธีสังเกตอาการ หนังตาตก แบบไหนกินยาแล้วหาย ? แบบไหนต้องผ่าตัด ?
ภาวะหนังตาตก (Ptosis or Drooping Eyelid) อย่าคิดว่าไม่สำคัญ รพ.เมตตาฯ โดยจักษุแพทย์ แนะภาวะการหดเกร็งตัว ของกล้ามเนื้อรอบเปลือกตา การหยีตาในตาข้าง ที่มีค่าสายตาผิดปกติ คิ้วตก ผิวหนังบริเวณหนังตาหย่อน ตาดำที่ลอย หรือต่ำกว่าตาอีกข้างหนึ่ง ทำให้ตำแหน่งของ เปลือกตาข้างนั้น ดูคล้ายหนังตาตกได้ หรือแม้แต่อาจเกิดความผิดปกติ ของเปลือกตาอีกข้าง ที่สูงกว่าปกติ ทำให้ตาข้างที่ปกติ ดูคล้ายหนังตาตกได้
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตน์วนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะที่หนังตาบนตก ลงต่ำกว่าระดับปกติ โดยปกติขณะลืมตา ขอบล่างของเปลือกตาบน จะอยู่ระดับเหนือรูม่านตาเล็กน้อย หรือปิดบังประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 5 ของตาดำส่วนบนในคนเอเชีย (ในท่ามองตรง และไม่มีการเลิกคิ้ว หรือย่นหน้าผาก) อาจพบในตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง และอาจไม่เท่ากัน ในตาทั้งสองข้างได้ และในกรณีที่เป็นทั้งสองข้าง จะดูคล้ายคนง่วงนอน หรืออ่อนแรงได้ อาจมีการแหงนหน้า หรือย่นหน้าผากเวลามอง ในกรณีที่หนังตาตกทั้งสองข้าง หรือเลิกคิ้วสูงกว่า ในตาข้างที่หนังตาตก เป็นต้น
นายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า หนังตาตกในผู้สูงอายุ มักเป็นสองข้างพอ ๆ กัน และค่อย ๆ เป็นเพิ่มขึ้นช้า ๆ ตามวัย ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้บดบังการมองเห็น จนอาจเป็นอุปสรรค ในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมได้ ส่วนใหญ่ มักไม่มีความผิดปกติของ การทำงานของระบบประสาท หรือกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตา หรือเบ้าตาโดยตรง ภายนอกอาจพบลักษณะ ชั้นของเปลือกตาสูงขึ้น หรือหายไป
เนื่องจากการยืดหย่อน ของพังผืดกล้ามเนื้อ ที่ยกเปลือกตา หรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่ง จุดเกาะที่เปลือกตาเดิม ซึ่งเกิดตามวัย ซึ่งมักพบร่วมกับ การหย่อนคล้อย ของผิวหนังบริเวณเปลือกตา และคิ้วตกร่วมด้วยได้ การรักษาทำได้ โดยการผ่าตัดเปลือกตา เพื่อปรับตำแหน่งการยึดเกาะ หรือ เพิ่มแรงยกของพังผืดกล้ามเนื้อ ยกเปลือกตาที่เลื่อนหลุด และหรือยืดหย่อน และอาจทำร่วมกับการผ่าตัดบางส่วน ของผิวหนังเปลือกตาที่หย่อนคล้อย ซึ่งยังบดบังการมองเห็นอยู่ออกไป แม้ตำแหน่งของเปลือกตา จะอยู่ในระดับปกติ และหรือการยกกระชับพังผืด ชั้นลึกของใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณคิ้ว การเลือกชนิด และตำแหน่งของการผ่าตัดรักษา อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ทำการผ่าตัด หลังจากได้ตรวจอย่างละเอียด
นายแพทย์ปรเมศวร์ เลาวณาภิบาล จักษุแพทย์อนุสาขาประสาทจักษุ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ของภาวะหนังตาตก ที่เป็นในภายหลัง ที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ได้แก่ ก้อนบริเวณเปลือกตา, เปลือกตาบวมอักเสบ, การอักเสบในเบ้าตา, ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือ การบาดเจ็บของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ พังผืด ของกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตา ภายหลังอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด การถูขยี้ตาบ่อย ๆ การใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง เป็นเวลานาน หรือโรคที่พบได้น้อย และถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อลีบฝ่อ, โรคไมโตรคอนเดรียผิดปกติ เป็นต้น
รวมทั้งอาจพบ เป็นอาการเริ่มต้น ของโรคที่พบได้น้อย แต่มีความร้ายแรงได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง กดทับเส้นประสาทสมอง เส้นที่ 3, ภาวะความผิดปกติ ของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีหนังตาตก โดยเฉพาะเมื่อเป็นในตาข้างเดียว และมีการเกิดแบบฉับพลัน การดำเนินโรคเร็ว และมีอาการร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ, ปวดเบ้าตา, ตามัวลง, ภาพดับมืดชั่วขณะ, ตาโปน, ตาเข, เห็นภาพซ้อน, ตาแดง, สู้แสงไม่ได้, หนังตาตก มีลักษณะไม่คงที่ เป็นต้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเร่งด่วน
และยังมีโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่เกิดจากความผิดปกติ ของระบบภูมิคุ้มกัน ต่อเนื้อเยื่อตัวเอง มีการสร้างแอนติบอดี ต่อตัวรับสารสื่อประสาท บริเวณรอยต่อของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ทำให้ประสิทธิภาพของ การทำงานของกล้ามเนื้อลดลง เมื่อถูกกระตุ้น โดยเฉพาะเมื่อกระตุ้นซ้ำ ๆ หรือใช้งานนาน ๆ อาการได้แก่ หนังตาตกข้างเดียว หรือสองข้าง อาจเท่าหรือไม่เท่ากันก็ได้ และอาจพบร่วมกับ อาการภาพเบลอไม่ชัด, ภาพซ้อน, กลอกตาติด, ตาเขได้ และอาการจำเพาะที่สำคัญ ของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คือ อาการมักไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาของวัน หรือ ระหว่างวัน มักเป็นมากขึ้น หลังการใช้สายตานาน ๆ และดีขึ้นเมื่อได้พัก เมื่อไม่มีโรคร่วมอื่น มักไม่มีอาการปวด, ชา, ตาแดง, ตามัว เป็นต้น
ในผู้ป่วยบางคน อาจมีอาการอ่อนแรง บริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ กลืนลำบาก, หายใจเหนื่อย, ยกแขนขาไม่ไหว เป็นต้น ดังนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะไม่ควรรีบทำ การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตา ในขณะที่อาการ และการดำเนินโรคยังไม่คงที่ โดยอาการอาจดีขึ้นได้ โดยการรับประทานยา และไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด เมื่อมาพบแพทย์ ในระยะเริ่มต้นของโรคฯ และยังมีภาวะอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียง และอาจเข้าใจผิดว่า เป็นหนังตาตก ได้แก่ ภาวการณ์หดเกร็งตัว ของกล้ามเนื้อรอบเปลือกตา การหยีตาในตาข้าง ที่มีค่าสายตาผิดปกติ, คิ้วตก, ผิวหนังบริเวณหนังตาหย่อน, ตาดำที่ลอย หรือต่ำกว่าตาอีกข้างหนึ่ง ทำให้ตำแหน่งของเปลือกตาข้างนั้น ดูคล้ายหนังตาตกได้ หรือ แม้แต่อาจเกิดความผิดปกติ ของเปลือกตาอีกข้าง ที่สูงกว่าปกติ ทำให้ตาข้างที่ปกติ ดูคล้ายหนังตาตกได้ เป็นต้น
แนวทางการดูแลรักษา ก่อนที่จะตัดสินใจ เลือกแก้ไขโดยการผ่าตัด เพื่อยกเปลือกตาขึ้น ควรจะปรึกษาจักษุแพทย์ ได้แก่ ผู้ที่มีอาการเตือนดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในบางครั้งอาการอื่น ๆ อาจมีเพียงเล็กน้อย ในระยะเริ่มต้น หรือแม้แต่มีอาการอื่น เป็นนำมาก่อน เช่น ภาพเบลอ, ตามัว หรืออาการปวดศีรษะ แต่อาจเข้าใจผิดว่า ไม่เกี่ยวข้องกับหนังตาตก และคิดว่า เกิดจากโรคประจำตัวอื่น เช่น ไมเกรน เป็นต้น จึงควรปรึกษา และได้รับการตรวจอย่างละเอียด โดยจักษุแพทย์
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th
18 ส.ค. 2565
2080 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย