27 มิ.ย.66 - NIA การันตีมางานนี้มีแต่คุ้ม ส่องนวัตกรรมล้ำ ๆ จากถาครัฐ ในงาน SITE2023
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ที่มาของแนวคิดของการจัดงาน SITE ในปีนี้ คือ INNOVATION PARTNERSHIP - TOGETHER WE GROW ร่วมสร้าง “หุ้นส่วนนวัตกรรม” เพื่อนำไทยสู่ชาตินวัตกรรม เป็นความร่วมมือทางนวัตกรรมครั้งสำคัญของ 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อรองรับการเติบโตของสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งในระบบนิเวศนวัตกรรมไทยและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรม”
ภายในงานยังได้นำเสนอนิทรรศการนวัตกรรมจากภาครัฐ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าภาครัฐ หน่วยงานราชการต่าง ๆ จะมาเป็นผู้ช่วย ผู้ใช้และผู้สร้างนวัตกรรมอย่างไรบ้าง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of the Board of Investment: BOI) นำตัวอย่างผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI ตาม พรบ.ส่งเสริมการลงทุนมาจัดแสดงภายในบูธ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ“โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน” ที่ได้รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 กพร. นำเสนอแนวทางการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ อย่าง 7 Megatrends เปลี่ยนฉากทัศน์ราชการไทยในอีก10 ปี และ ทิศทางการพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2566 – 2570
สวทช. นำผลงาน Traffy Fondue ระบบแจ้ง แก้ไขและบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่ช่วยให้หน่วยงานของรัฐรับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร อย่างสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เช่น
•โต๊ะทำงานที่ปรับได้ 3 ระดับ
•ชาสำหรับคนที่ต้องการเลิกบุหรี่
•เครื่องวัดความเค็ม
Gistda นำเสนอ Sphere แพลตฟอร์มข้อมูลมหภาคเชิงพื้นที่แบบเปิดของคนไทยทุกคน และนวัตกรรมจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น
•
ดร.พันธุ์อาจ ย้ำว่าการสร้างนวัตกรรมภาครัฐนั้น จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ หรือบุคลากรภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในฐานะผู้ให้บริการ ตลอดจนประชาชนในฐานะผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต