29 ส.ค.66 - ความหมาย “พิธีฮ้องขวัญ” ประเพณีสุดอบอุ่น แสดงความห่วงใย รับขวัญ ผู้ที่ไกลบ้าน
“พิธีฮ้องขวัญ” ที่เห็นจากการต้อนรับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” หลังพ้นระยะกักโรค เข้าสู่การรักษาที่โรงพยาบาลช้างจ.ลำปาง พิธีนี้เป็นความเชื่อของคนไทยในภาคเหนือที่มีมาช้านาน มีเห็นจากวัฒนธรรมของทั้ง “ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชาวไทยภาคเหนือตอนล่าง”
มีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคนขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์และสิ่งของ
เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญจะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ เมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม ชาวล้านนาเรียก “ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว”
นอกจากนี้ชาวล้านนามีคำเรียกลักษณะขวัญที่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า “รู้คิง” หมายถึงอาการของคนที่รู้เรื่อง รู้สึกตัว มีความรู้สึกเข้าใจทุกอย่าง ทุกขณะพูดและทำการใดก็รู้สติ ขวัญเป็นพลังแฝงในจิตใจเป็นนามธรรม ดูแลควบคุมกายจิตใจและวิญญาณให้มีดุลยภาพ ขวัญของชาวล้านนาจัดแบ่งประเภทเหมือนกับคนไทยท้องถิ่นอื่น คือ มีขวัญคน ขวัญพืช ขวัญสัตว์ และขวัญสิ่งของ (บ้านเรือนและเครื่องใช้ในการเกษตร)
ชาวล้านนา มีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม “พิธีฮ้องขวัญ” เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ โดย “พิธีฮ้องขวัญ” จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุหรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยจะมีปฏิบัติต่อเนื่องกัน
โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่ง “พิธีฮ้องขวัญ” ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนาทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจและขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค) เป็นต้น
•
ขอบคุณที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช