มาดูได้ที่นี่.. พิพิธภัณฑ์ประมง ม.เกษตรฯ ..จากความตั้งใจช่วยโลก ที่ไม่ได้อยู่แค่การสอน.. แต่มีความเชื่อที่เป็นไปได้ กับระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar) แห่งแรกของกรุงเทพ ...จากวันวาน ถึงวันนี้ วันที่คำว่า EV กำลังนิยม อาจารย์ธรณ์ มีข้อมูลพลังงานสะอาด เรื่องนี้มาบอกกัน...
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 กล่าวถึง ระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar) แห่งแรกของกรุงเทพ ว่า
เมื่อ 5 ปีก่อน ภาพเช่นนี้ คงเป็นแค่ฝันไป แต่ปัจจุบัน เป็นไปได้ที่ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ไฟฟ้าจากแดด เพื่อรถอีวี ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลยสักนิด Zero Emission Vehicle - ZEV ของแท้ ใช้ไฟจาก Floating Solar แห่งแรกของกรุงเทพ สร้างอยู่ในบ่อ 10 ไร่ของคณะประมง บางเขน
ไฟฟ้าดังกล่าว นำมาใช้ในพิพิธภัณฑ์ประมง เพื่อให้เป็นอาคาร ปลอดก๊าซเรือนกระจก ไฟที่ผลิตยังเหลือพอใช้ สำหรับจุดชาร์จ EV สำหรับบุคลากรในคณะ ..ในอนาคต
ท่านคณบดี คุยกับผมว่า เราจะพยายามติดตั้ง floating solar เพิ่ม.. จนสามารถตอบโจทย์ ได้มากกว่านี้ (100+ kWh) เพราะจากข้อมูลที่ติดตาม มาจนปัจจุบัน โฟลตติ้งโซลาร์ ที่ติดตั้งยังไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับคุณภาพน้ำ และสัตว์น้ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท เราตั้งเป้าว่า ไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของพื้นที่บ่อ
เทคโนโลยีไปเร็วมาก แผงโซลาร์ผลิตไฟฟ้า ได้มากขึ้นต่อหนึ่งแผง ทุ่นลอยรุ่นใหม่ รับน้ำหนักได้ดีขึ้น ใช้พื้นที่น้อยลง ยิ่งกระแสรถ EV กำลังมาแรง ใคร ๆ มาที่คณะ ก็ล้วนแต่ชอบใจ นิสิตเห็นก็รู้สึกได้ถึงความตั้งใจ ในการช่วยโลก ซึ่งเรื่องนั้นสำคัญมาก ๆ ครับ การสอนเป็นเรื่องดี แต่จะยิ่งดี หากเราสามารถทำในสิ่งที่เราสอน ให้เป็นไปได้
ที่คณะประมง เราเชื่อในความเป็นไปได้ และทำให้เกิดความเป็นไปได้ จาก 5 ปีก่อน มาถึงปัจจุบัน ด้วยความสนับสนุน จากหลายฝ่าย
นี่คือ ความหมายของความเป็นไปได้ ที่จะรักโลกให้มากขึ้นครับ
❤️ 🌏 🙏🏼 BCPG (ไฟฟ้าบางจาก) และปตท. ครับ
จากเว็บไซต์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ข้อมูล ณ 20 เม.ย. 2565) คณบดีคณะประมง คือ ผศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ
นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลในวันวาน ที่เหล่าอาจารย์ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกันยินดี ในพิธีเปิดและส่งมอบระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar)
ซึ่งจากเว็บไซต์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดีคณะประมง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะประมง ร่วมพิธีเปิด และส่งมอบระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar) จากบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
โดยได้รับเกียรติจาก คุณบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารบริษัท บีซีพีจี เป็นผู้ส่งมอบ ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง ศูนย์บริหารงานวิจัย และสนับสนุนวิชาการ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความอนุเคราะห์ แก่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนน้ำ กำลังการผลิต 39.06 กิโลวัตต์พีค (53.1045 แรงม้า) ณ บ่อน้ำหน้าคณะประมง
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษา ฝึกอบรม และการทดลองโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้า พลังงานสะอาด (Zero Emission Building) ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งพลังงานไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงพลังงานไฟฟ้าสะอาด กับรถ EV ในยุคนี้ หลายคนเริ่มสนใจ บางท่านอาจกำลัง เตรียมจัดกันไปสักคัน เรื่องของรถ EV ที่ไม่ต้องเติมน้ำมัน ใช้แต่พลังงานไฟฟ้าล้วน ๆ แถมยังช่วยโลก ให้ไร้ฝุ่นควันกวนใจ ...เรื่องนี้ อาจารย์ธรณ์ ก็มีข้อมูลดี ๆ มาบอกไว้ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่ง.. Backbone MCOT ขอแนะนำเลยครับ.. ท่านที่สนใจ กำลังเล็งจะซื้อรถ EV ลองเข้าไปอ่านกันได้ ...(ขออนุญาต นำภาพรถ จากเฟซบุ๊ก อาจารย์ธรณ์ มายั่ว.. ก่อนนะครับ)
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : Thon Thamrongnawasawat (ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)
https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
เว็บไซต์ : คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://fish.ku.ac.th
21 เม.ย 2565
1560 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย