X

ทำความรู้จัก “กล่องดำ” อุปกรณ์สำคัญของเครื่องบิน

23 มี.ค. 2565
13330 views
ขนาดตัวอักษร

        จากกรณีเครื่องบินโบอิง 737 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 132 คน เดินทางจากเมืองคุนหมิงสู่เมืองกว่างโจว ตกลงในพื้นที่ภูเขานั้นขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหา “กล่องดำ” เพื่อช่วยในการสืบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสะเทือนใจในครั้งนี้ วันนี้ทีมงาน Backbone MCOT จึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “กล่องดำ” อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินที่สำคัญและมีส่วนช่วยในการจำลองเหตุการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุกันค่ะ


กล่องดำ (Black Box) คือ “อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน” ที่เครื่องบินทั่วไปจะต้องติดตั้งตามกฎด้านการบิน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ช่วยจำลองเหตุการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป


“กล่องดำ” (Blackbox) ชื่อดำแต่สีส้ม

สาเหตุที่กล่องดำจะต้องทาที่ส้มเนื่องจากมีสีสว่างสะดุดตา ทำให้ง่ายต่อการค้นหา มักติดตั้งอยู่บริเวณด้านหางท้ายเครื่อง เพราะเป็นบริเวณที่มีความแข็งแรงและมีโอกาสรับความเสียหายน้อยกว่าส่วนอื่น


กล่องดำทั้ง 2 ชนิด ได้แก่

1. The Cockpit Voice Recorder (CVR)

จะบันทึกเสียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในห้องนักบินเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดของนักบิน เสียงเครื่องยนต์ เสียงสัญญาณเตือน เสียงการเคลื่อนไหวของฐานล้อ เสียงการกดหรือปลดสวิตช์ต่าง ๆ เสียงการโต้ตอบการจราจรทางอากาศ การแจ้งข่าวสภาพอากาศ โดยรับเสียงจากไมโครโฟนของนักบิน และไมโครโฟนที่ติดตั้งไว้ในแผงอุปกรณ์ด้านบนระหว่างนักบิน


2. The Flight Data Recorder (FDR) 

จะบันทึกสภาวะต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติการบิน เช่น ท่าทาง, ความสูง, ความเร็ว, ทิศทาง, การทำงานรวมถึงสถานะเครื่องยนต์และระบบต่างๆในเครื่องบิน, พิกัดตำแหน่งที่เครื่องบินเดินทาง และเวลา เป็นต้น โดยข้อมูลที่ได้จาก FDR มีประโยชน์ต่อการสอบสวนมาก เนื่องจากช่วยให้สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของการบิน เพื่อมองเห็นท่าทางเครื่องบินก่อนเกิดอุบัติเหตุ หรือสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ


เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ส่วนของ Crash-Serviable Memory Unit (CSMU) ของทั้ง CVR และ FDR จะต้องเสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น อุปกรณ์ส่วนนี้จึงถูกออกแบบให้ทนทาน กล่องห่อหุ้มด้วยสเตนเลสสตีลหรือไทเทเนียมที่ทนทานต่อการกัดกร่อนสองชั้น และต้องผ่านการทดสอบ เช่น

- ยิงอุปกรณ์นี้ให้กระทบเป้าอะลูมิเนียมเพื่อให้เกิดแรงกระแทก 3,400G (คำนวณตามแรงโน้มถ่วงของโลก = 1G)

- ทดสอบความทนต่อการเจาะ โดยปล่อยก้อนน้ำหนักขนาด 500 ปอนด์ (227 กิโลกรัม) ที่มีเข็มเหล็กขนาด 0.25 นิ้ว อยู่ด้านล่างให้กระทบลงบน CSMU จากความสูง 10 ฟุต (3 เมตร)

- ทดสอบด้วยแรงกด 5,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 5 นาที ทุก ๆ ด้านของ CSMU

- เผาด้วยความร้อน 2,000 °F (1,100 °C) นาน 1 ชั่วโมง

- แช่ในน้ำเค็มนาน 24 ชั่วโมง (กรณีเครื่องบินตกทะเล)

- แช่น้ำนาน 30 วัน

- ทดสอบความทนทานต่อของเหลวอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงเครื่องบิน น้ำมันหล่อลื่น สารเคมีดับเพลิง


อย่างไรก็ตาม การเดินทางโดยเครื่องบินก็ขึ้นชื่อว่าเป็น “การเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก” โดยข้อมูลสถิติของสหรัฐระบุว่า “...อัตราการเสียชีวิตบนเครื่องบินนั้นอยู่ที่ 1 ใน 205,552 หากเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในแบบอื่น…” แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ ทีมงาน Backbone MCOT ขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


บทความอื่น ๆ

- 5 วิธีเอาตัวรอดบนเครื่องบิน : https://www.mcot.net/view/kiVT6Tic 

- ภาพส่วนหนึ่ง ของเศษซากเครื่องบิน 737 : https://www.mcot.net/view/3bI2RZqL

- เครื่องบินโบอิง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์นตก : https://www.mcot.net/view/Mou27rFd 


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)