ผู้ใช้โซเชียลมีเดียแห่วิจารณ์กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2551 พร้อมตั้งคำถาม การโพสต์ภาพศิลปินที่เรารัก ถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ผิดแล้วหรือ
กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ เมื่อเพจ BLACKPINK Thailand ลงคลิป “ลิซ่า BlackPink” ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาให้กับของวิสกี้ดังยี่ห้อหนึ่ง แม้ต้นทางจะเป็นของเกาหลีใต้ก็ตาม แต่ถูกสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(สคอ.) เรียกสอบเนื่องจาก ขัดต่อกฎหมายมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยการ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันว่า แค่เชร์ภาพหรือศิลปินที่เรารัก ถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนแชร์ก็ผิดกฎหมายแล้ว และบ้างก็มองว่ากฎหมายดังกล่าวไม่เข้ากับยุคสมัย
ต่อมา สคอ. ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุ ไม่อยากผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ทำอย่างนี้นะ 1.เลือกโพสต์เฉพาะภาพที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ข้อความที่โพสต์ไม่มีข้อความอวดอ้างสรรพคุณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือชักจูงให้ดื่ม 3.เบลอหรือลบภาพส่วนที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โพสต์ของ สคอ. ได้มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นกันจำนวนมาก เช่น มีผู้ตั้งคำถาม “การที่ Blink หรือประชาชนไม่โพสต์รูปที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ด้วย ทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้อุบัติเหตุที่เกิดจากเมาแล้วขับลดลงจริงเหรอคะ” หรือความเห็น “กรณีเกาหลี มีโฆษณาแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีเรื่องเมาแล้วขับเท่าบ้านเรา อีกอย่าง ในซีรีส์เค้าสร้างภาพจำและจิตสำนึกถ้าเมาไม่ขับ จะเรียกคนขับแทน” และหลายความเห็นได้ขอให้มีการยกเลิก กฎหมายมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
ในเรื่องนี้ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ราชบุรี (สคร. 7) กรมควบคุมโรค อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นว่า “มีการเข้าใจผิดหรือมีความพยายามสื่อให้เข้าใจผิดอยู่เนืองๆ ว่า การทำสื่อโฆษณาที่มาจากต่างประเทศหรือทำจากต่างประเทศแล้วมาสื่อสารในประเทศไทยไม่ผิดกฎหมาย ความจริงคือ กฎหมายยกเว้นการโฆษณา (การทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ) ที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร หมายถึง การสื่อสารหรือการทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความครั้งนั้นๆ ถ้ามีการสื่อสารมาจากนอกราชอาณาจักรจะเข้าข่ายข้อยกเว้น เพราะการเขียนกฎหมายไทยไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยไม่ได้ แต่ไม่ใช่การทำสื่อโฆษณามาจากนอกราชอาณาจักรแล้วมาสื่อสารให้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความภายในราชอาณาจักรจะไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด”
“กรณีประชาชนทั่วไปที่ส่งต่อภาพลิซ่าที่ถ่ายคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากไม่เห็นภาพเครื่องดื่มก็ไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะการส่งต่อให้เพื่อนหรือคนรู้จักก็ไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่หากเห็นภาพเครื่องดื่ม ชื่อ สินค้า บรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจน อาจจะมีความผิดได้ เนื่องจากในภาพถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีผลต่อการชักจูงในการดื่มทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่แล้ว จึงไม่ควรส่งต่อภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เห็นภาพสินค้าแอลกอฮอล์ ส่วนกรณีบุคคลทั่วไปที่ถ่ายภาพกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากไม่ได้มีข้อความชักจูงชวนดื่มก็ยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม Backbone MCOT ขอพามาดูว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีจุดเริ่มมาจากที่ใด และมีการแก้ไขมาแล้วบ้างหรือไม่ โดยกฎหมายดังกล่าวเริ่มจากเมื่อปี 2544 รัฐบาลเริ่มมีแนวคิดในการกำหนดนโยบายควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนและสังคมโดยรวม มีการออกกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่างๆ ได้แก่ มติ ครม. เมื่อ 29 ก.ค.46 เห็นชอบให้กำหนดมิให้มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือสปอตโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตทุกรูปแบบ
จนต่อมาได้มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เกิดขึ้น ซึ่งในมาตรา 32 ได้กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร”
ก่อนแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี2564 โดยเปลี่ยนแปลงเป็น ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจ ให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ทั้งนี้ ต้องตามดูกันต่อไปว่าการที่โลกเราขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่จะครอบคลุมเพียงพอ หรือต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยอีกหรือไม่