X
รำลึกเพื่อนยาก พิธีศพเจ้าพระยาปราบหงสาวดี

รำลึกเพื่อนยาก พิธีศพเจ้าพระยาปราบหงสาวดี

3 ต.ค. 2564
6500 views
ขนาดตัวอักษร

ว่ากันว่าใครเป็นเพื่อนที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันในเวลาคับขัน คือ เพื่อนยาก หรือ เพื่อนตาย ที่ร่วมชะตากรรม ในสนามรบนอกจากเพื่อนร่วมรบ คงมีแต่ พ่หนะ ที่คู่ขับเคี่ยวชิงชัยใช้ควบขับเข้ารบที่เป็นเพื่อนตาย 


ภาพของสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ พระมหาอุปราช ในฝั่งพระนเศวรมีกำลังพลติดตามไปเพียงหยิบมือเดียว กับช้างทรงและจาตุรงคบาทที่เคียงข้างเข้าไปเผชิญหน้ากับกองทัพหงสาวดี พระยาไชยานุภาพ นำสมเด็จพระนเรศรบอย่างดุดันจนในที่สุดได้ชัยชนะในการรบครั้งนั้น หลังเสร็จศึก พระยาไชยานุภาพได้รับการปูนยศเป็น เจ้าพระยาปราบหงสาวดี จริงอยู่แต่โบราณมีคำกล่าว “ยศช้าง ขุนนางพระ” มิได้มีอำนาจมากมายเป็นแต่เพียงการยกย่อง แต่การปูนยศให้พ่อพลายภูเขาทองครั้งนั้นเป็นการแสดงถึงเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์ทรงจะยกย่องเพื่อนตาย สหายศึก


แม้ในหลักฐานของไทยตะไม่ได้กล่าวถึงความเป็นไปของพลายภูเขาทอง แต่ในหลักฐานของพ่อค้าฝรั่ง  ฌาคส์ เดอ คูทร์(Jacques de Coutre) พ่อค้าอัญมณีชาวเฟลมิช ได้บันทึกถึงเรื่องราวของพ่อพลายเพื่อนตายของพระนเรศไว้ควรแก่การกล่าวถึงว่า 


หนึ่งปีหลังจากสงครามครั้งนั้น ช้างที่พระองค์ทรงเมื่อทรงได้รับชัยชนะนั้นล้มลง ในวันที่สัตว์ตัวนั้นตายพระองค์ทรงโทมนัสอย่างหนัก ตรัสว่าบิดาของพระองค์สิ้นแล้ว พระองค์มีพระราชโองการให้บรรดาไพร่ฟ้าและชนชั้นนำในพระราชอาณาจักรไปถวายสักการะช้างนั้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้นำช้างนั้นออกไปนอกเมืองสู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ พวกเขาได้วางซากนั้นไว้หน้าวัด …. “ หมายความว่าเจ้าพระยาปราบหงสาวดีสิ้นลงหนึ่งปีหลังจากสงครามยุทธหัตถี พระนเรศเสียพระทัยยิ่ง จัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่ แต่คงใช้ธรรมเนียมเดียวกับคน คือ ไม่ประกอบพิธีในเมือง ได้นำร่างเจ้าพระยาฯ ข้ามจากเกาะเมืองมาที่ฝั่งอโยธยา 


งานพิธีนั้นจัดอย่างสมเกียรติ …. เดอ คูทร์ บันทึกว่า “ พวกเขาตั้งปะรำใหญ่ทำด้วยผ้าแพรดามัสกัสสีน้ำเงินคลุมร่างช้าง และผ่าเปิดช่องท้องของสัตว์ตัวนั้น หลังจากพวกเขานำเครื่องในของมันออกหมดแล้ว พวกเขาจึงดองมันด้วยยาขี้ผึ้งหอมระเหยวางดอกไม้และดอกกุหลาบจำนวนมากบนร่างของสัตว์นั้น พวกเขาใส่เสาทองคำเข้าไปในตัวมันเพื่อดันให้ช่องท้องเปิดอยู่แล้วพระสงฆ์ 4 รูป ซึ่งเป็นนักบวชของพวกเขา นั่งลงในช่องท้องนั้น นักบวชเหล่านี้นุ่งห่มด้วยผ้าเหลืองและถือลูกประคำไว้ในมือของพวกเขา ซึ่งพวกเขาเรียกว่า gantra และมีเทียนไขจำนวนมากถูกจุดไว้ล้อมรอบพวกเขา เมื่อถึงเวลาบางรูปจะเข้ามาส่วนรูปอื่นจะออกไป “ จากขั้นตอนนี้เห็นถึงการประกอบพิธีศพยกย่องเช่นบุคคลเป็นเจ้าพระยา มีพระสวดต่อกัน 


แล้วจึงสร้างเมรุเผาศพท่านเจ้าพระยา “ หลังจากนี้ พวกเขาสร้างอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดมหึมาล้อมรอบสัตว์นั้น ซึ่งถูกปิดทองและทาสีทั้งหมด มีบันได 5  ขั้นลงมาถึงพื้นดิน และถูกล้อมด้วยราชวัตรทั้งหมด พวกเขาใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมดไม่ถึงหนึ่งวันครึ่ง


“ ชนชั้นนำและผู้ดีมีตระกูลทั้งหมดได้มาสักการะมันในอาคารหรือในวัดซึ่งมีเทียนจำนวนมากถูกจุดไว้โดยรอบ วางไว้บนราชวัตร และทุกคนสักการะมันสัตว์นั้นโดยการคุกเข่า เรื่องป่าเถื่อนนี้ดำเนินไปถึง 8 วัน ระหว่างนั้นมีการเต้นระบำอย่างต่อเนื่องและมีการการบรรเลงมโหรีที่เหมือนดนตรีจากนรกให้ได้ยินทั้งวันทั้งคืน ประกอบด้วย เครื่องเขย่า กลอง ฆ้อง และเครื่องดนตรีที่คล้ายแทมบูริน  ยังมีชายจำนวนมากแต่งกายเป็นเสือและอสูรและม้าขาว ทั้งหมดทำจากกระดาษ ม้าและนกไม้ถูกทาสีเหลือง สิ่งปลูกสร้างรูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศที่มีพระสงฆ์นั่งอยู่หนึ่งรูปต่อหนึ่งหลังนั้นมีขนาดใหญ่เท่าม้า” 


พิธีสวดร่างเจ้าพระยาปราบหงสาวดีนั้นมีถึง 8 วัน “เมื่อสิ้นสุดวันที่ 8 บรรดาพระสงฆ์ได้นำไม้ใหญ่น้อยมาวางปกคลุมช้างนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จมา และทรงพระดำเนินรอบช้างนั้นสามรอบ แล้วทรงพระราชทานเพลิงที่เชิงตะกอน หลังจากซากของช้างนั้นถูกเผา พระองค์จึงมีพระราชโองการให้เก็บรวมรวบขี้เถ้าและบรรจุใส่โกศทองคำ แล้วพวกเขาจึงนำโกศนั้นไปไว้ในที่เดียวกับพระบรมอัฐิของพระราชบิดาพระราชมารดา และบรรพบุรุษของพระองค์


จะเห็นว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชทานเกียรติยศให้เพื่อนตายอย่างสูงยิ่งเท่าข้าราชการ คน ชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยต่อมาไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่ามีช้างทรงท่านใดได้พระราชทานเกียรติยศเช่นนี้อีก ศึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงต้นกรุงมีการบันทึกไว้ในพงศาวดารเพียงว่า เมื่อช้างหลวงล้มลงจะเอามาถ่วงในแม่น้ำบริเวณวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร 


จะมีก็แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเรื่องของทพระวิมลรัตนกิริณี ช้างเผือกสำคัญในรัชกาลที่ 4 ล้ม ความว่า “ครั้นวัน 2 เดือน 5 ขึ้นค่ำ เวลาเช้า 5 โมง เจ้าพนักงานกรม 4 ตำรวจได้ชักลากตะเฆ่รองศพ ออกประตูวิเสศไชยศรี ไปลงท่าริมตพานเซี่ยว มีคู่แห่นา 100 หลัง 50 กลองชนะ 40 จ่าปี่จ่ากลอง แตรสังข ๒๒ เครื่องสูงสำหรับหนึ่ง 20 บังสูริยพัดโบก กรดกำมลอ แลกระบวนธงมังกรตามธรรมเนียม ชักศพพระวิมลรัตนกิริณีลงเรือขนานมีเพดาน มีราชวัตรแลมีเรือดั้ง ตั้งกลองชนะแตรสังข คู่ 1 เรือแห่20 แห่ศพไปฝังปากลัดโพ แขวงเมืองเขื่อนขันธตาม ธรรมเนียมแต่ก่อนมา” แสดงให้เห็นว่าพิธีศพของช้างสำคัญของพระมหากษัตริย์มีการเขิญร่างไปทำพิธีที่ปากน้ำพระประแดง ตรงคลองลัดโพธิ์ในปัจจุบัน 


ขอขอบคุณ ข้อมูล ที่ผู้เขียนเรียบเรียงจาก เพจ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ 


https://www.facebook.com/1046096062120530/posts/2105568429506616/?d=n


ภาพ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)