NASA ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ขนาดใกล้เคียงโลก โคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ระบบคล้ายกับระบบสุริยะ นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์หินดวงที่สองที่ถูกค้นพบในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตของระบบดาวเคราะห์ TOI-700
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่น่าสนใจมาก ๆ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อว่า TOI-700 e นักดาราศาสตร์ของ NASA ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ มาจากข้อมูลของกล้อง TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ที่มีภารกิจตามหาดาวเคราะห์นอกระบบดวงใหม่ ด้วยวิธีดูแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงไป
ดาวเคราะห์ TOI-700 e โคจรอยู่ระหว่างดาว TOI 700 c และ TOI 700 d มีขนาดใกล้เคียงกับโลก รัศมีประมาณ 95% ของรัศมีโลก มีคาบการโคจรรอบดาวฤกษ์ 28 วัน และโคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable zone) ในระบบที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์หินขนาดเล็กคล้ายกับระบบสุริยะ นับได้ว่าเป็นการค้นพบดาวเคราะห์หินดวงที่สองที่ถูกค้นพบในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตของระบบดาวเคราะห์ TOI-700 เป็นการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ของระบบดาวนี้
ระบบดาวเคราะห์ TOI-700 คืออะไร?
เป็นระบบดาวเคราะห์ที่มีดาวฤกษ์เป็นดาวแคระแดง ซึ่งมีมวลประมาณ 40% ของดวงอาทิตย์ ห่างจากโลกประมาณ 100 ปีแสง ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2563 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ได้ค้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวงในระบบดังกล่าวได้แก่ TOI-700 b, TOI-700 c และ TOI-700 d ทั้ง 3 ดวงเป็นหินขนาดเล็กที่มีรัศมี 1-2.6 เท่าของรัศมีของโลก โดยหนึ่งในนั้นมี ดาวเคราะห์ TOI-700 d ที่มีวงโคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable zone) ซึ่งอาจพบน้ำบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดังกล่าวได้ด้วย
การที่ดาวเคราะห์ TOI-700 e นั้นมีคาบโคจรใกล้กับดาวฤกษ์อาจทำให้ตัวดาวหันด้านเดียวเข้าสู่ดาวฤกษ์ จนทำให้อุณหภูมิในฝั่งที่ได้รับแสงกับฝั่งที่ไม่ได้รับแสงจากดาวฤกษ์แตกต่างกันมากจนเกินไป และการที่ดาวเคราะห์ TOI-700 e โคจรในเขตที่คาดว่าจะเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Optimistic habitable zone) หากมีน้ำ จะเป็นของเหลวในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของอายุดาวเคราะห์เท่านั้น ซึ่งจะต่างจากดาว เคราะห์ TOI-700 d ที่โคจรในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอย่างต่อเนื่อง (Continuous habitable zone) ที่หากมีน้ำก็จะเป็นของเหลวตลอดเวลา
ขอบคุณข้อมูลที่น่าสนใจจาก