เหล่าคุณหมอ และ สธ. ห่วงใยและเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงเด็กน้อยในยุคนี้ ที่ชีวิตประจำวัน ต่างจ้องหน้าจอกันตลอด ๆ ทั้งจอคอมฯ, แท็บเล็ต และ สมาร์ตโฟน เพื่อสันทนาการ และการศึกษา จนเสี่ยงเกิดโรคร้ายต่อดวงตา ซึ่งคุณหมอตา มีวิธีดูแลดวงตาแบบง่าย ๆ มาบอก และวิธีสังเกตอาการป่วย ..แบบไหน ? ที่ควรเร่งมาพบจักษุแพทย์... ขณะที่ สปสช. ออกมาย้ำ ปีนี้ (2565) เด็กไทยอายุ 3 - 12 ปี มองไม่ชัด มาตรวจสายตากันได้ พบผิดปกติ แจกแว่นสายตาฟรี.. ทุกคน ทั่วประเทศ พร้อมมีรายชื่อ รพ.ทั่วประเทศ ที่รับตรวจตา มาให้ตรวจสอบสถานที่ ก่อนเดินทางไปกัน...
โดยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 เว็บไซต์ กรมการแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลถึง รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ห่วงใยสายตาลูกน้อย จากคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน ที่เข้ามามีบทบาท ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่ง ในการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็ก หรือ เพื่อให้เด็กไม่รบกวน โดยอาจขาดความรู้เท่าถึงต่อโทษ ที่จะตามมา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตา เช่น
+ อาการปวดศีรษะ
+ ปวดตา
+ ตาแห้ง
+ เคืองตา
+ ตามัว
+ สายตาสั้นก่อนวัย
+ และภาวะจิตสังคม ขาดสายใยผูกพัน ระหว่างคนในครอบครัว
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาท ในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายคนอาจเคยประสบปัญหา ในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา, ตาแห้ง, ตาล้า, แสบตา, เคืองตา, ตาพร่ามัว, โฟกัสได้ช้าลง, ตาสู้แสงไม่ได้, ปวดกระบอกตา, ปวดศีรษะ หรือบางครั้ง มีอาการปวดหลัง, ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้ หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งาน จากหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน ในแต่ละวัน และหากแบ่งเวลาการทำงาน หรือ เวลาเรียนออนไลน์ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อสุขภาพได้
โดยเฉพาะ ดวงตา ที่ต้องรับภาระจากการจ้อง หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ จอมือถือ เป็นเวลานาน ๆ จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตา ที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ, ปวดตา, ตาแห้ง, เคืองตา และ ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์
นายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ จากการที่สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต ใช้งานไม่ยาก มีซอฟต์แวร์น่าใช้ ดึงดูดสายตาเด็ก นอกจากนี้ ผู้ปกครอง ยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่ง ในการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็ก หรือ เพื่อให้เด็กไม่รบกวน โดยอาจขาดความรู้เท่าถึงต่อโทษ ที่จะตามมา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตา พบว่า เด็กมักใช้เวลา วันละประมาณ 7 ชั่วโมง ไปกับสื่อ เอนเตอร์เทน อีกด้านของสติปัญญา การพัฒนาทางอารมณ์ และสังคม พบว่า การใช้สื่อต่าง ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลต่อความตั้งใจเรียน ที่โรงเรียนลดลง, พฤติกรรมการกิน, การนอนผิดไป และเกิดโรคอ้วนตามมา ปัญหาทางตา ที่พบ จากการใช้สื่ออุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ, ปวดตา, ตาแห้ง, เคืองตา, ตามัว และเสี่ยงสายตาสั้น ก่อนเวลาอันควร
แพทย์หญิงพันธราภรณ์ ตั้งธรรมรักษ์ จักษุแพทย์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังมีแสงสีฟ้า ที่เป็นแสงที่พบได้ จากแสงแดด มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ แสงสีฟ้า มีความกระเจิงแสง ทำให้เกิดความไม่สบายตาในการมอง และมีผลต่อการนอนหลับยากขึ้น
ปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า แสงสีฟ้า ก่อโรคต่อดวงตาชัดเจน เพราะฉะนั้น แว่นตาตัดแสงสีฟ้า อาจจะมีประโยชน์ ในแง่ช่วยให้มองภาพ สบายตามากขึ้น
มีคำถามว่า ลูกน้อย ควรใช้เวลาหน้าจอเท่าไหร่ต่อวัน ? จักษุแพทย์ แนะนำว่า
+ หากเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 1ปี ไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเลย
+ ส่วนเด็กอายุ 1 - 2 ปี ใช้เวลาหน้าจอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
+ และในช่วงอายุ 3 - 4 ปี ใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
+ และในช่วงอายุ มากกว่า 5 - 13 ปี ใช้เวลาหน้าจอไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
มีคำแนะนำในการดูแลลูกน้อย ในขณะใช้หน้าจอ ดังนี้
1. ควรพักสายตา เมื่อลูกน้อย ใช้หน้าจอ โดยใช้หลัก 20-20-20 คือ
+ ให้พักจากหน้าจอทุก 20 นาที
+ พักสายตา โดยมองวัตถุที่ไกลออกไป ประมาณ 20 ฟุต
+ และพักเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
2. ปรับแสงสว่างให้เพียงพอ วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ห่างประมาณ 25 นิ้ว ปรับหน้าจอความเข้ม ความสว่างให้พอดี
3. การใช้น้ำตาเทียม อาจมีประโยชน์สำหรับกรณี มีอาการตาแห้งร่วมด้วย
4. ควรพบจักษุแพทย์ หากลูกน้อย มีอาการกะพริบตาบ่อย มองภาพไม่ชัด มีตาเข ปวดศีรษะ
แต่ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพกายที่ดี ลดความเสี่ยงสายตาสั้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนาของ สติปัญญา ทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม แนะนำให้เด็ก ๆ มีกิจกรรมกลางแจ้งหรือ อ่านหนังสือ และที่สำคัญ สมองเด็ก มีพัฒนาการที่เร็วมาก ในช่วงอายุ 2 - 3 ขวบปีแรก จึงควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ จากการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ดีกว่าจอคอมพิวเตอร์
วิธีสังเกต ถ้าเด็กในปกครอง มีอาการ เช่น เด็ก อาจจะบ่นปวดตา หรือแสบตา ตาแดง กะพริบตาบ่อย หรือเอามือขยี้ตา ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที
ด้าน สปสช. ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในวันนี้ (19 เม.ย.2565) ระบุว่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่เด็ก มีสายตาผิดปกติ สปสช. มีชุดสิทธิประโยชน์ ให้บริการแว่นตา สำหรับเด็กที่สายตาผิดปกติ ซึ่งให้กับเด็กไทย ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล เพื่อแก้ไขให้การมองเห็นเป็นปกติ เน้นคัดกรองเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคน ส่วนเด็กอนุบาล นักเรียนชั้น ป.2 ถึง ป.6 หากสงสัยว่า มีสายตาไม่ปกติ สามารถเข้ารับการคัดกรองได้
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
1. การตรวจคัดกรอง ในเด็กนักเรียน
2. การตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา โดยจักษุแพทย์ หรือ นักทัศนมาตร หากเด็กมีความผิดปกติทางสายตา จะดำเนินการสั่งตัดแว่น และจะได้รับคนละ 1 อันต่อปี
3. การตรวจติดตาม หลังจากได้รับแว่นตาครบ 6 เดือน
4. แว่นตา สำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
นอกจากนี้ Backbone MCOT พบว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ สปสช. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 โดยกล่าวว่า
การมองเห็นที่ชัดเจนของสายตา เป็นส่วนสำคัญ ต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่มีปัญหาสายตาบกพร่อง และส่วนหนึ่ง ไม่ได้รับการแก้ไข จากการศึกษาของ โครงการประเมินเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) การคัดกรองเด็กนักเรียนอนุบาล และประถมศึกษา พบว่า
มีความผิดปกติ ร้อยละ 11.4 และวินิจฉัยยืนยัน มีภาวะสายตาผิดปกติ ถึงร้อยละ 6.6 โดยมีประมาณร้อยละ 4.1 จำเป็นต้องใช้แว่นตา แต่มีเด็กส่วนหนึ่ง ไม่มีแว่นตาใช้... จนเป็นอุปสรรคต่อการเรียน และดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพ ประชากรประเทศในอนาคตได้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว ภายใต้สิทธิประโยชน์ สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ที่ให้เด็กไทย อายุ 3 - 12 ปี มีสิทธิได้รับการตรวจ คัดกรองสายตา หากจักษุแพทย์ ตรวจยืนยัน มีภาวะสายตาผิดปกติ จะได้รับการแก้ไข
สปสช. จึงได้กำหนดเพิ่มเติมให้ “บริการแว่นตา สำหรับเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” เป็นสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน ในปี 2564 พร้อมเดินหน้าสนับสนุน ค่าแว่นตา ในปีงบประมาณ 2565 ให้หน่วยบริการ ที่ตรวจวัดสายตา และจัดหาแว่นตา ให้แก่เด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการเข้าถึง สิทธิประโยชน์ บริการแว่นตา สำหรับเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ สปสช. มีการประชุมร่วมกับ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามแนวทาง ที่กรมอนามัยกำหนด คือ จัดบริการเชิงรุกในโรงเรียน เน้นการคัดกรองสายตา เด็กนักเรียน ชั้นประถมปีที่ 1
โดยครู จะทำหน้าที่ คัดกรองสายตาเบื้องต้น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จาก รพ.สต. หรือ โรงพยาบาล ตรวจคัดกรองนักเรียน ที่ครูพบผิดปกติซ้ำ
จากนั้น จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาล (รพช. / รพท. / รพศ.) ที่มีจักษุแพทย์ และหน่วย Refraction Unit เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน วัดค่าสายตา พร้อมสั่งตัด และจัดหาแว่นตาให้
สำหรับ เด็กนักเรียนชั้นอื่น เช่น ชั้นอนุบาล และ ป.2 - ป.6 หากครูสงสัยว่า อาจมีสายตาผิดปกติ ** ก็เข้าสู่ระบบ การตรวจคัดกรอง และมีสิทธิได้รับแว่นตา **
นอกจากนั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตเห็นลูกหลานตนเอง มีสายตาผิดปกติ เช่น อ่านหนังสือชิดตา มากผิดปกติ หรี่ตา หรือ ทำตาหยี เมื่อเพ่งมอง เป็นต้น ก็สามารถพาลูกหลาน ไปรับการตรวจ คัดกรองสายตา ได้ที่ รพ.สต. / โรงพยาบาล หากผิดปกติ จะได้รับการส่งต่อไป พบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย ยืนยันได้เช่นกัน
สำหรับแว่นตา โรงพยาบาล โดยจักษุแพทย์ อาจสั่งตัด และประกอบแว่นตา ที่หน่วยประกอบแว่นตา ในโรงพยาบาล หรือจัดหาจาก จักษุคลินิก หรือ ร้านแว่นตาเอกชนในชุมชน และโรงพยาบาล สามารถเบิกจ่ายชดเชย ค่าแว่นตา ซึ่งครอบคลุม ทั้งค่าเลนส์, กรอบแว่น, อุปกรณ์ และค่าประกอบแว่นตา ได้จาก สปสช.
*** เด็กที่จักษุแพทย์ วินิจฉัยมีสายผิดปกติ จำเป็นต้องใช้แว่นตา มีสิทธิรับแว่นตาได้ คนละไม่เกิน 1 อันต่อปี ***
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการเข้าถึง สิทธิประโยชน์นี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทเข้าร่วม ขับเคลื่อนผ่าน “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” หรือ กปท. ในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
สำหรับ การนำพาเด็กนักเรียน ไปรับบริการที่โรงพยาบาล 3 ครั้ง ได้แก่
1. การรับบริการตรวจวินิจฉัย
2. การรับแว่นตา
3. และ รับบริการตรวจประเมิน เมื่อครบ 6 เดือน
ซึ่ง สปสช. จะทำหนังสือประสานแจ้งไปยัง อปท. ทั่วประเทศต่อไป
และเมื่อต้นปีนี้ (พ.ศ. 2565) สปสช. ได้เน้นย้ำอีกครั้ง ถึงการดูแลสุขภาพดวงตาของเด็กไทย โดยเว็บไซต์ สปสช. เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2565 ระบุว่า สปสช. ประชุม สปสช. 13 เขต ชี้แจงแนวทางขับเคลื่อน “สิทธิประโยชน์ บริการการแว่นตา สำหรับเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” ทั่วประเทศ ประสานหน่วยงานพื้นที่ ทั้งภาคการศึกษา, ภาคประชาชน และท้องถิ่น เร่งคัดกรอง ค้นหาเด็กสายตาผิดปกติ เพื่อเข้ารับบริการตรวจสายตา และรับแว่นตา ช่วยการมองเห็นเป็นปกติ ดูแลเด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อพัฒนาการในอนาคต
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สปสช. ได้จัดการประชุม หารือแนวทางการขับเคลื่อน การบริหารจัดการแว่นตา สำหรับเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ปีงบประมาณ 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน สปสช. เขต ในงานที่เกี่ยวข้องกับ การบริการแว่นตาเด็ก... กว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม อาทิ งานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค, งานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับท้องถิ่น (กองทุนตำบล), งานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ องค์กรภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม และประชาชน
นพ.จักรกริช ระบุว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน สปสช.เขต ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ การบริการแว่นตาเด็ก ทำความเข้าใจกระบวนการดำเนินการ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มเป้าหมาย เป็นเด็กไทยอายุ 3 - 13 ปี เน้นคัดกรองเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคน และเด็กอนุบาล 1 ถึง นักเรียนชั้น ป.6 ที่คุณครูสงสัยว่า เด็กมีปัญหาสายตาผิดปกติ และนำเข้าสู่การตรวจยืนยัน ได้รับแว่นตา โดยในสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กบางส่วน เรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้าน ผู้ปกครองที่สงสัยว่า เด็กมีสายตาผิดปกติ ก็สามารถนำเด็ก เข้ารับบริการตรวจสายตา กับจักษุแพทย์ ที่โรงพยาบาล ได้เช่นกัน
นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า การจัดบริการแว่นตา สำหรับเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกตินี้ ยังได้เปิดการทำงานของ สปสช. ร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา และเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือกับ “กองทุน เพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา (กสศ.)” ที่จะมีการลงนาม ความร่วมมือร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือเด็ก ที่ด้อยโอกาส และเชื่อมต่อไปยังผู้ปกครอง ให้เข้าถึงสิทธิ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น เช่น
การติดตาม เด็กด้อยโอกาส ที่มีปัญหาสายตา ที่อาจเชื่อมต่อถึงผู้สูงอายุที่บ้าน ที่มีปัญหาสุขภาพ และยังไม่ได้รับการดูแล ภายใต้กองทุน ระบบการดูแลระยะยาว ด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุ ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบของ รูปแบบการดำเนินการ ไปยังสิทธิประโยชน์ บริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคอื่น ๆ ได้
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์ แว่นตาสำหรับเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ต้องเกิดจากความร่วมมือ ของภาคส่วนต่าง ๆ เพราะหากคุณครู ไม่ร่วมดำเนินการ เด็กก็จะไม่ได้รับการคัดกรอง สายตาที่ไม่ปกติของเด็ก ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ หากไม่ร่วมจัดหาร้านแว่น เพื่อส่งค่าของสายตา ก็จะไม่สามารถประกอบ แว่นตาให้เด็กได้ ซึ่งโรงพยาบาล จะเบิกจ่ายค่าแว่นตา ผ่านระบบ e-claim
ขณะที่ ภาคประชาสังคม จะเป็นส่วนที่ช่วยค้นหาเด็ก ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ที่อยู่ในเครือข่าย เข้ามารับบริการ ทั้งหมดนี้ จะเป็นปัจจัย ทำให้การจัดบริการของ สปสช. เป็นไปตามเป้าหมายได้
ข้อมูลเพิ่มเติม (จากเว็บไซต์ สปสช.)
+ ตรวจสอบ รายชื่อโรงพยาบาล ที่มีหน่วยตรวจตา (Refraction unit) ปี 2565
เปิดอ่านเอกสาร หรือ ดาวน์โหลด คลิกได้ที่นี่ >> (รายชื่อโรงพยาบาลที่มีหน่วยตรวจตา)
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : กรมการแพทย์
https://www.dms.go.th
เว็บไซต์ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
https://www.nhso.go.th/home
เฟซบุ๊ก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
19 เม.ย 2565
8110 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย