X
เกร็ดความรู้ 10 เรื่อง ผีเสื้อ ที่คุณอาจไม่เคยรู้... มาก่อน

เกร็ดความรู้ 10 เรื่อง ผีเสื้อ ที่คุณอาจไม่เคยรู้... มาก่อน

11 ส.ค. 2565
3240 views
ขนาดตัวอักษร

ผีเสื้อ ความสวยงามทางธรรมชาติ ที่มีเรื่องราวมากมาย และครั้งนี้ Backbone MCOT ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งได้ไปค้นหา และรวบรวมจัดทำเป็น เกร็ดความรู้เล็ก ๆ กับ 10 เรื่อง ผีเสื้อ ที่คุณอาจไม่เคยรู้... มาก่อน มีดังนี้



1. การแบ่งจำแนก แมลงจำพวกผีเสื้อ ? ผู้คนส่วนใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้รับรู้ดูจำแนกได้ง่าย จึงได้มีการแบ่งตามลักษณะพฤติกรรม เกี่ยวกับกิจกรรมที่ผีเสื้อทำเป็นประจำ หรือการออกหากินของเหล่าผีเสื้อ เช่นแบ่งเป็น ผีเสื้อกลางวัน และ ผีเสื้อกลางคืน ซึ่งบทย่อ ๆ ของผีเสื้อ 2 กลุ่มนี้ คือ

+ ผีเสื้อกลางวัน (Butterflier) ส่วนใหญ่มีสีสันสวยงาม ลวดลายสะดุดตา จะออกบิน และหากินในเวลากลางวัน ซึ่งบางชนิดออกหากิน ตั้งแต่เช้ามืด และบางชนิดออกหากินจนใกล้ค่ำ

+ ผีเสื้อกลางคืน (Moths) จะมีสีสันน้อยกว่า แต่มีลวดลายแปลกตา และส่วนใหญ่ออกหากินในเวลากลางคืน มีความหลากหลายมากถึง 200,000 ชนิด ประเทศไทยพบประมาณ 20,000 ชนิด แต่ก็มี ผีเสื้อกลางคืนบางชนิด ที่ออกหากินเวลากลางวัน และมักมีสีสันฉูดฉาด คล้ายผีเสื้อกลางวัน




2. ผีเสื้อ กับความเร็วในการบิน เกิดจากอะไร ? ในการบินช้า และบินเร็ว เกิดจากปีกของผีเสื้อ โดยผีเสื้อ ที่มีพื้นที่ปีกน้อย เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว จะกระพือปีกได้เร็วมาก เช่น ผีเสื้อบินเร็ว ส่วนพวกที่มีพื้นที่ปีกมาก ๆ เช่น ผีเสื้อร่อนลม (ldea spp.) จะกระพือปีกช้ามาก และกางปีกออกร่อนไปตามสายลม อัตราเฉลี่ยการกระพือปีก ประมาณ 8 - 12 ครั้งต่อวินาที ส่วนความเร็วของการบินนั้น ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ จะบินได้เร็วถึง 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจบินได้เร็วกว่านี้ ถ้าตกใจ หรือหนีอันตราย และมีผีเสื้อ ที่บินช้าบางชนิด จะมีสารพิษอยู่ในตัว


3. ผีเสื้อ บางชนิดมีสารพิษอยู่ในตัว ซึ่งมีไว้ป้องกันภัยจากศัตรู จำพวกนกกินแมลง เช่น วงศ์ผีเสื้อหนอนใบรัก (Danaidae) ได้มาจากพืชอาหาร ตอนที่เป็นตัวหนอน แต่ส่วนใหญ่


4. ผีเสื้อแกล้งตาย เพื่อเอาชีวิตรอดจากเหล่าศัตรู ผีเสื้อบางชนิด สามารถทำเป็นแกล้งตายได้ ได้แก่ วงศ์ผีเสื้อลายเสือ (Arctiidae) ซึ่งเมื่อถูกรบกวน จะทิ้งตัวลง นอนนิ่งบนพื้นดิน และยังสามารถสร้างคลื่นออกมารบกวน ระบบเรดาร์ของค้างคาวได้อีกด้วย



5. ผ้าไหมที่สวยงาม ราคาสูง แท้จริงแล้ว คือ เส้นใยที่ได้มาจาก ตัวดักแด้หนอนผีเสื้อกลางคืน โดยส่วนใหญ่เป็น วงศ์ผีเสื้อไหม (Bombycidae) แต่ก็มีอยู่ใน วงศ์ผีเสื้อยักษ์ (Saturnidae) ตามข้อมูลระบุไว้ ได้แก่ พวกผีเสื้อไหมป่า ในสกุล Antheraea และ Philosamia


6. ผีเสื้อชนิดเดียวกัน อาจมีลวดลาย และสีสัน ที่แตกต่างกันได้สุดขั้วในตัวเดียว เรียกว่า ความผิดเพี้ยน (aberration) ซึ่งอาจเกิดจากสภาพอากาศ หรือเหตุอื่น ๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อดักแด้ ในระยะที่มีการสร้างเม็ดสีภายในตัว หรืออาจเกิดการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม บางชนิดมีลวดลายบนตัว แตกต่างไปจากลายปกติ แบบที่หาได้ยากมาก เรียกว่า จีแนนโดรมอร์ฟ (gynandromorph) เช่น มีลำตัวแบ่งออกเป็น 2 ซีก ซีกซ้ายเป็นตัวผู้ และซีกขวาเป็นตัวเมีย แต่ละซีกจะแสดงสีสัน และขนาดของเพศนั้น ดูแปลกมาก



7. ความแตกต่างของ ท่าทางเวลาเกาะพัก ? ผีเสื้อกลางวัน (Butterflier) มักจะยกปีกตั้งตรง ขึ้นบนลำตัว ทำให้เห็นด้านใต้ของปีก ส่วนผีเสื้อกลางคืน (Moths) เวลาเกาะพัก จะวางปีก ราบลงกับพื้นที่เกาะ โดยขอบปีกด้านหน้า ตกลงข้างตัวต่ำกว่า ระดับของหลัง ดูคล้ายรูปหน้าจั่วหลังคา และคลุมปีกคู่หลัง จนมิดหมด


8. ผีเสื้อไม่มีปีก มีอยู่จริง ได้แก่ วงศ์ผีเสื้อหนอนปลอก (Psychidae) โดยจะเป็นเฉพาะตัวเมีย ที่ไม่มีปีก และไม่กินอาหาร จะอาศัยอยู่ภายในปลอก ที่ห่อหุ้มตัวด้วยเศษพืชต่าง ๆ การสืบสายพันธุ์ มาจากตัวผู้ จะตามกลิ่นมาผสมพันธุ์กับตัวเมีย ไข่จะยังคงอยู่ในตัวแม่ที่ตายแล้ว จนฟักออกเป็นตัว จึงออกจากซากตัวแม่ ชนิดที่สำคัญในประเทศไทย คือ หนอนปลอกมะพร้าว (Mahasena corbetti)


9. ผีเสื้ออะไร ทำไมถึงมารวมตัวกันแน่น ตามริมลำธาร ในพื้นดินเปียกแฉะ พื้นทรายเปียก ๆ ที่เรียกว่า ดินโป่ง หรือ โป่งผีเสื้อ (mud puddling) ทำไมพื้นที่เหล่านี้ ถึงมีเหล่าผีเสื้อ หลากหลายชนิด มารวมตัวกันจำนวนมาก จากข้อมูลเฟซบุ๊ก Insect Museum Thailand - พิพิธภัณฑ์แมลง ประเทศไทย เปิดเผยว่า นอกจากอาหารหลัก จำพวกน้ำหวานดอกไม้, น้ำในผลไม้สุกเน่าแล้ว ผีเสื้อยังต้องการไปกินน้ำ จากแหล่งดินโป่งเหล่านี้ ซึ่งผีเสื้อเกือบทั้งหมด ที่ลงกินน้ำจากโป่งผีเสื้อ เป็นผีเสื้อเพศผู้

เนื่องจากผีเสื้อเพศผู้เหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับ แร่ธาตุโซเดียม (sodium ion) เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างเซลล์อสุจิ (spermatogenesis) ของตัวผีเสื้อ อย่างไรก็ตาม อาจมีผีเสื้อเพศผู้บางส่วน ที่ไม่ได้กินน้ำจากโป่งผีเสื้อ ที่สามารถผสมพันธุ์กับผีเสื้อเพศเมียได้ แต่โอกาสที่จะได้ไข่ที่แข็งแรงนั้น น้อยกว่าผีเสื้อเพศผู้ ที่ได้กินน้ำจากโป่งผีเสื้อ จึงเป็นสาเหตุของการดำรงเผ่าพันธุ์ ที่ทำให้เราได้พบเห็น ผีเสื้อกลางวันแสนสวยจำนวนมาก ที่บริเวณโป่งผีเสื้อนี้ และรวมถึงเหล่าตัวผู้ของ ผีเสื้อกลางคืน เช่นกัน



10. เมื่อปี 2563 ประเทศไทย ค้นพบ 2 ผีเสื้อกลางคืน ชนิดใหม่ของโลก ในสกุล Apsidophora โดย รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว และ นางสาวโสภิตา หมวดทรัพย์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานการค้นพบ ผีเสื้อหนอนม้วนใบ ชนิด A. bala และ A. chandrapatyae 2 ชนิดใหม่ โดยได้รับการ ตีพิมพ์ ในวารสาร Zootaxa 4877 (3): 401–412 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

ผีเสื้อกลางคืน ชนิดใหม่ 2 ชนิดนี้ คือ “ผีเสื้อบาลา” (Apsidophora bala) และ “ผีเสื้อจันทราปัตย์” (Apsidophora chandrapatyae) เป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์ Tortricidae (วงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ) มีลักษณะเด่น คือ ปีกคู่หน้ามีแถบโค้งขนาดใหญ่ อยู่บริเวณปลายปีก มีการรายงานครั้งแรกโดย Alexey Diakonoff ในปี 1973 เพียงชนิดเดียว



ผีเสื้อบาลา (A. bala) ถูกค้นพบที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ. นราธิวาส และ อุทยานแห่งชาติเขานัน จ. นครศรีธรรมราช ปีกแผ่กว้าง 6.8 - 8.4 มม. สำหรับชื่อชนิด “bala” มาจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าบาลา (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา) ชื่อสถานที่พบของตัวอย่างต้นแบบ (holotype)

ผีเสื้อจันทราปัตย์ (A. chandrapatyae) ถูกค้นพบที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ. เชียงใหม่ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีปีกแผ่กว้าง 8.0 - 8.8 มม. ชื่อชนิด “chandrapatyae” มาจากแถบโค้งบนปีกคู่หน้า คล้ายพระจันทร์เสี้ยว และเพื่อให้เกียรติกับ ศ.ดร. อังศุมาลย์ จัทราปัตย์ โดยตัวอย่างของผีเสื้อเก็บรักษาไว้ที่ห้อง พิพิธภัณฑ์แมลงสุธรรม อารีกุล ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กพส. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กพส. จังหวัดนครปฐม

สำหรับผีเสื้อ A. bala และ A. chandrapatyae มีลักษณะ และ ลวดลายบนปีกคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันเพียงความกว้าง ของแถบโค้งที่ปลายปีก ลักษณะของเกล็ดปีกบนปีกคู่หลัง และมีลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน



และทั้งหมด 10 ข้อนี้... นี่คือ เพียงบางส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับ ผีเสื้อ ซึ่ง Backbone MCOT ได้รวบรวมเนื้อหา และนำมาบอกเล่าเป็น เกร็ดความรู้ เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ฉบับข้อมูลฉบับเต็ม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงก์ด้านล่างนี้ (ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ ที่มาจากความพยายาม ของทุก ๆ ท่าน) ซึ่ง Backbone MCOT ขอเป็นสื่อกลาง ในการแนะนำ ส่งต่อเรื่องราวความรู้เหล่านี้


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

ข้อมูล: ภาพประกอบข่าว โดย Phanakorn Kraomklang
>> แมลง เว็บไซต์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

https://www.khaoyainationalpark.com/discover/fauna/insects

>> ศึกษาข้อมูลผีเสื้อกลางวัน และพืชอาหาร เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

>> ความเข้าใจผิดต่อสายพันธุ์สัตว์ ตอน ผีเสื้อกลางวัน VS ผีเสื้อกลางคืน เฟซบุ๊ก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

>> ผีเสื้อกลางวัน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

>> ผีเสื้อกลางคืน ในหุบเขาลำพญา โดย ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

>> ผีเสื้อ จากเว็บไซต์ มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

>> ผีเสื้อยักษ์ (ผีเสื้อหนอนกระท้อน) เป็นผีเสื้อกลางคืน ที่มีขนาดใหญ่กว่าผีเสื้อปกติ ถึง 10 เท่า มีลวดลายสลับกันไปอย่างสวยงาม

>> Insect Museum Thailand - พิพิธภัณฑ์แมลง ประเทศไทย
https://www.facebook.com/insectmuseumthailand/posts/2888692654730515


>> มก. ค้นพบผีเสื้อชนิดใหม่ “ผีเสื้อบาลา และผีเสื้อจันทราปัตย์” โดย รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว และนางสาวโสภิตา หมวดทรัพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

>> ผีเสื้อบาลา และ ผีเสื้อจันทราปัตย์ ผีเสื้อกลางคืนชนิดใหม่ของโลกในสกุล Apsidophora
https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=73086
https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=65879



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล