X
แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติ อนาคตทีวีไทย

แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติ อนาคตทีวีไทย

8 ม.ค. 2567
1280 views
ขนาดตัวอักษร

เผลอแป๊บเดียว 10 ปี ผ่านไป สำหรับการประมูลช่องทีวีดิจิทัล มูลค่าแสนล้านบาท เกิดอะไรขึ้นเยอะแยะมากมาย การดำรงอยู่ เกิดใหม่ เข้ามา ออกไป ล่มสลาย ขายช่อง ฯลฯ ปี 2567 ที่เรายืนอยู่วันนี้ เหลืออีก ไม่กี่ปีจะครบสัญญาจตามใบอนอนุญาจต เราจะเอายังไงกันต่อ ประมูลอีกไหม ใครจะประมูล ไม่ใช่แค่ธุรกิจโทรทัศน์ที่เปลี่ยน ระบบนิเวศทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไปหมด สิ่งสำคัญสูงสุด พฤติกรรมผู้บริโภค มีใครเขาดูทีวีกันบ้าง ? ? ?  เขาดูสตรีมมิ่งกันหมดแล้ว ในเมืองสตรีมมิ่งมาขนาดนี้ จึงมีคนคิดว่า ถ้าทีวีทุกช่อง เอาคอนเทนท์ขึ้นไปบนสตรีมมิ่งกลาง ที่ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ น่าจะดีไหม  คิดได้แบบนี้ กสทช. ได้ริเริ่มและเป็นตัวกลาง (facilitate) ในการเปิดเวทีหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติ (national streaming platform) ที่จะบูรณาการเนื้อหาจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคให้อยู่ในระบบเดียวกัน ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีหารือร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณา ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม และผู้ผลิตสมาร์ททีวี และได้เสนอให้มีโครงการต้นแบบศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ในเรื่องนี้โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาบริการพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO (Universal Service Obligation) ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

 

การจะตัดสินใจดำเนินการมีความละเอียดอ่อน เพราะมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนของระบบนิเวศสื่อ รวมไปจนถึงผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคมด้วย อีกทั้งงบประมาณที่จะต้องใช้ก็คงไม่น้อย นอกจากนี้ การเลือกที่จะดำเนินการอย่างไรนั้นควรเป็นความเห็นพ้องกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างผลประโยชน์แก่อุตสาหกรรม และสังคมไทยอย่างคุ้มค่าและเป็นธรรม ระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เราลองเอาแนวทางที่สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ได้เคยพูดคุยหารือกับฝ่ายต่างๆ แล้ว และแนวทางหนึ่งที่ กสทช. กำลังศึกษาอยู่ เพราะกำลังมีการทดลองใช้ในยุโรป จึงพอสรุป เค้าโครง แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติที่ (มีโอกาส) จะเกิดขึ้นดังนี้

 

ระบบ DVB-I เป็นการรวบรวมและบูรณาการช่องรายการที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายในรูปแบบต่างๆ มารวมไว้ในที่เดียวกัน เช่น ผ่านการออกอากาศภาคพื้นดิน (Digital terrestrial television: DTT), ผ่านดาวเทียม, ผ่านสายอากาศ และผ่านทางอินเทอร์เน็ต (ผ่าน HTML) โดยผู้ชมจะได้ประสบการณ์การรับชมเแบบไร้รอยต่อ เช่น ในกรณีที่สายอากาศเสีย ก็สามารถรับชมผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่การใช้สายอากาศก็ยังคงมีความจำเป็น เพราะบางรายการยังออกอากาศผ่านระบบภาคพื้นดินเท่านั้น ทำให้ต้องเสียบสายอากาศค้างไว้ตลอดเวลาเพื่อรับสัญญาณโทรทัศน์

 

ข้อดีของระบบนี้คือ สามารถลิสต์ลำดับรายการสำคัญ สามารถรับชมรายการของแต่ละภูมิภาค โดยการส่งสัญญาณภาคพื้นดินจากส่วนภูมิภาค/ท้องถิ่นนั้นๆ 3. รับชมรายการเฉพาะกิจ (part time service) เพราะไม่ต้องพึ่งพาช่องรายการประจำ แต่สามารถเพิ่มช่องใหม่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ และ 4. มี Dynamic Playlists (เพิ่มลดจำนวนลิสต์ช่องรายการได้)

 

แต่เนื่องจากคลื่นความถี่เพื่อใช้ออกอากาศภาคพื้นดินมีอยู่อย่างจำกัด การใช้ระบบ Hybrid โดยใช้การ

ออกอากาศรายการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตควบคู่ไปด้วย ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียว และเมื่อมีรายการถ่ายทอดสด เช่น การถ่ายทอดกีฬาระดับโลกเพียงบางวัน ก็สามารถกำหนดให้มีช่องรายการนั้นขึ้นมาเฉพาะกิจก็ได้ เมื่อการแข่งขันจบลง ก็สามารถลบช่องรายการนั้นออกไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีลิสต์ช่องรายการจำนวนมากที่สร้างความสับสนในการใช้งานให้กับผู้ชม

 

ระบบถัดมา  HbbTV เป็นการรวบรวมเนื้อหาไว้ในแอปพลิเคชันของช่องตัวเอง โดยมีฟังก์ชั่นให้สามารถเลือกดูรายการย้อนหลัง แนะนำรายการน่าสนใจ ดูผังรายการ และสืบค้นได้ ฯลฯ ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สเปน เยอรมัน อิตาลีออสเตรเลีย และอังกฤษ ก็นำระบบนี้มาใช้แล้ว  ข้อดีของ HbbTV คือ มีการพัฒนาการเข้าถึงบริการ (เช่น เลือกเปิดปิดคำบรรยายใต้ภาพได้โดยกด “ปุ่มสีเขียว” เพียงปุ่มเดียว), มีการวิเคราะห์ผู้ชม, มีการวัดคุณภาพบริการ และสามารถดูรายการท้องถิ่นใดในพื้นที่ใดก็ได้เพราะดูผ่านแอปพลิเคชันที่เหมือนกันหมดทุกพื้นที่ฯลฯ อีกทั้งยังสามารถดูรายการถ่ายทอดสดพร้อมๆ กัน 4 ช่องในรูปแบบเมตริกซ์หรือท้ายสุดจะเลือกเปลี่ยนไปรับชมเพียงช่องเดียวก็ได้

 

ดังนั้นหากมีความร่วมมือกันระหว่าง DVB-I และ HbbTV จะเป็นการรวมข้อดีของสองระบบเข้าด้วยกัน คือ  มีรูปแบบเป็นลิสต์รายการที่ใช้งานง่าย (users friendly channels list) สามารถเข้าถึงเนื้อหาในระดับท้องถิ่น/ภูมิภาค การวิเคราะห์ผู้ชมจากการเก็บข้อมูลในการรับชมของผู้บริโภค (ซึ่ง DVB-I ไม่สามารถทำได้) และการควบคุมคุณภาพบริการ และ 5. Zap to the App (คือการเข้าถึงแอปพลิเคชันโดยตรงเพียงกดปุ่มเดียว เช่น “Red button” คล้ายๆ กับการกดปุ่ม Netflix ที่รีโมททีวี) ฯลฯ

 

ยังไม่รู้ว่าตอนจบของ เรื่องนี้จะเป็นยังไง เรานอนหลับไปตื่นข้นมาอาจจะมีแพลตฟอร์มอะไร เกิดขึ้นมาใหม่ยิ่งใหญ่กว่าทุกแพลตฟอร์มหรืออาจจะมีบริการอะไรที่ล้ำกว่าสตรีมมิ่งก็ได้ใครจะไปรู้ ถ้าเป็นอย่างนั้นคงต้องเปลี่ยนกันอีกหลายตลบ ตั้งสติให้ดีๆ เกาะกระแสให้ติด มันอาจทำให้คุณรอดก็ได้

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)