“ถนนต้นกล้วยช่วยชีวิต” บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ด้วยการน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” สร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัย พื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน
วันนี้ (23 พ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยถึงตัวอย่างความสำเร็จที่ยั่งยืนของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา’ ผ่านกระบวนการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โดยการนำของนายประสม เรืองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รุ่นที่ 1 มุ่งมั่นน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ “พึ่งพาตนเอง” และได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จนทำให้ในทุกวันนี้ พื้นที่บ้านบางครั่งแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น ในหนองน้ำมีปลา บนโคกมีไม้ยืนต้น ในนามีพืชผักสมุนไพร และที่เพิ่มเติมเต็มจนกลายเป็นพื้นที่ที่เมื่อผู้สัญจรไปมาได้พบเห็นจนชินตา นั่นคือ ริมสองฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยต้นกล้วยจำนวนมาก
ผู้ใหญ่ประสม เรืองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านบางครั่ง เล่าว่า บ้านบางครั้งแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีพี่น้องประชาชน 700 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,000 คน อาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ คือ ทำการเกษตร ทำประมง รับจ้างทั่วไป เนื่องจากบ้านบางครั่งอยู่ใกล้ทะเลจึงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด แต่สิ่งที่เป็นเสมือนความเจริญทางวัตถุที่เข้ามาทำให้บ้านบางครั่งได้มีความสะดวกสบายในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านอื่น ๆ หรือจะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ นั่นคือ มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 คือ ถนนเพชรเกษม ตัดผ่านกลางหมู่บ้าน ซึ่งถนนสายนี้เป็นถนนเส้นเดียวที่เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสัญจรระหว่างจังหวัดระนองไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ และจังหวัดภูเก็ต จึงทำให้ในแต่ละวันจะมีผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใช้เป็นเส้นทางไปทำมาหาเลี้ยงชีพ
“ตนได้มีโอกาสไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รุ่น 1 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในการอบรมในครั้งนั้น ได้มีการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติ การพัฒนา 3 ขุมพลัง คือ พลังกาย พลังใจ และพลังปัญญา การเรียนรู้ 9 ฐานเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ฐานคนรักษ์ป่า ฐานคนรักษ์น้ำ ฐานคนรักษ์แม่ธรณี ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนรักษ์สุขภาพ ฐานคนรักษ์แม่โพสพ ฐานคนติดดิน ฐานคนมีไฟ ฐานคนเอาถ่าน และการเอามื้อสามัคคี ทำให้ได้มีความรู้ทั้งการเรียนรู้ตำราบนดิน การแปลงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแบบเป็นขั้นเป็นตอน ทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง หลักกสิกรรมธรรมชาติวิถีภูมิปัญญาไทยกับการพึ่งพาตนเองในภาวะวิกฤต การฝึกปฏิบัติการบริหารจัดการหาอยู่หากินในภาวะวิกฤต และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยตามหลักการภูมิสังคมอย่างยั่งยืนเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ทำให้ได้เกิดแนวความคิดที่ว่า “จะทำอย่างไรให้บ้านบางครั่งได้เป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัย และเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนคนบางครั่ง” ซึ่งเมื่ออบรมแล้วเสร็จและกลับมาที่บ้าน ก็ได้เริ่มทดลองปฏิบัติจริง ด้วยการใช้พื้นที่ของตนเองมาทำโคก หนอง นา ควบคู่กับการทำสวนปาล์มพื้นที่ 45 ไร่ โดยขุดบ่อไป 12 ลูกแล้วทำคลองไส้ไก่เชื่อมแต่ละบ่อเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บและกระจายน้ำ ทำให้สามารถใช้น้ำในการบำรุงดูแลต้นปาล์มภายในสวน และเลี้ยงพันธุ์ปลาหายาก เช่น ปลามัด (ปลาดุกลำพัน) ปลาชะโอน ติดแผงโซล่าเซลล์ในการเลี้ยงปลาเพื่อให้มีแสงล่อแมลง พอฝนตกมากจะมีแมลงมาเล่นไฟแล้วตกลงบ่อปลา และเลี้ยงแหนแดงไว้ด้วย สามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลา ขณะเดียวกันก็ได้มีการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เช่น หัวข่า ขิง ตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร และเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูขี้พร้า 400 – 500 ตัว และได้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนภายในพื้นที่และนำเศษวัชพืช เศษอาหารเปียก กากปาล์ม ทลายปาล์ม มูลสัตว์ ปลาป่น (เพราะพื้นที่เราใกล้สะพานปลา) มาทำเป็นปุ๋ยหมัก เป็นสารบำรุงดินให้กับต้นปาล์ม และพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรในพื้นที่ เพราะปุ๋ยหมักนั้นมีจุลินทรีย์ในดิน มีไส้เดือน สร้างความชุ่มชื้นในดิน ส่งผลให้ต้นปาล์มออกผลเป็นทลาย มีผลตลอด รวมทั้งได้นำเกลือและน้ำส้มสายชูมาผสมเป็นยาปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง ช่วยลดรายจ่ายได้เป็นจำนวนมาก มากถึง 80%-90% ตรงข้ามกับการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงจากเคมี ซึ่งราคาแพง และทำให้การเจริญเติบโตของปาล์มน้อยกว่าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติ ซึ่งจากการทดลองทำในพื้นที่ของตนเองข้างต้น ส่งผลทำให้ในช่วงที่ต้องประสบกับสภาวะทางเศรษฐกิจ คือ ราคาปาล์มตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท สิ่งที่ได้รับจากการทำโคก หนอง นา สามารถช่วยชีวิตได้จริง ทำให้เรามีรายได้จากการจำหน่ายหมู ไข่ไก่ ปลา และผักสวนครัว หรือแม้แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็ได้นำเอาพืชสมุนไพร พวกหัวข่า ขิง ฟ้าทะลายโจร ไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ทุเลาเบาบางอาการและปลอดภัยจากการเผชิญกับโรคระบาดชนิดใหม่นี้ ซึ่งถ้าไม่มีความรู้จากการอบรมโคก หนอง นา คงไม่มีชีวิตอยู่รอดมาได้ และตนในฐานะ “ผู้นำหมู่บ้าน” คงไม่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลูกบ้านของตนเองที่มีถึงกว่า 2,000 คน ให้ผ่านวิกฤตของชีวิตมาได้” ผู้ใหญ่ประสมฯ เล่าด้วยความตื้นตันใจ
ล่าสุดได้รับองค์ความรู้จากการอบรมหลักสูตรอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และได้นำมาถ่ายทอดส่งต่อขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนทั้ง 700 ครัวเรือน ของบ้านบางครั่ง ทำให้ทุกวันนี้ ในหมู่บ้านได้มีศูนย์การเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยน มาเรียนรู้ มาเก็บผัก มาทดลองสิ่งต่าง ๆ และยังมีถนนหนทางที่เป็นถนนแห่งความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเกื้อกูล และยังเป็น “ถนนปลอดภัย” รวมไปถึงสิ่งที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เห็นเหมือนกัน นั่นคือ “การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รวมถึงพระราชดำริการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร มาใช้ในชีวิตประจำวัน” ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งที่ได้นำแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผ่านนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทาง “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่มุ่งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงานวันดินโลก “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การหลอมรวมสร้างพลังความรัก สามัคคี รักษาขนบธรรมเนียมภูมิปัญญาวิถีชีวิตดั้งเดิมถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานและคนทั่วไป ผ่านกระบวนการที่สำคัญ คือ สมาชิกของหมู่บ้านได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับประโยชน์
ทั้งนี้ ผู้สนใจเยี่ยมชมและเรียนรู้ในพื้นที่ สามารถติดต่อไปยังผู้ใหญ่ประสม เรืองแก้ว ทางหมายเลขโทรศัพท์ 08-1084-4042 ได้โดยตรง