X
รู้หรือไม่ ?!! คลอดก่อนกำหนด ลูกเสี่ยงตาบอด..ได้

รู้หรือไม่ ?!! คลอดก่อนกำหนด ลูกเสี่ยงตาบอด..ได้

19 เม.ย 2565
2110 views
ขนาดตัวอักษร

ทำไม ? เด็กคลอดก่อนกำหนด ถึงตาบอดได้ ถ้าไม่ได้รับการตรวจตา ? และจะสังเกตได้อย่างไร...ว่า  ลูก.. จอตาผิดปกติ ? หนทางการรักษา มีทางเลือกอะไรบ้าง ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ Backbone MCOT ก็มีวิธีลดความเสี่ยง เพื่อป้องกันการเจ็บครรภ์ คลอดก่อนกำหนด มาแนะนำพร้อมด้วยำ

โดยบทความจาก เฟซบุ๊ก หมอชวนรู้ โดย แพทยสภา ที่ได้โพสต์ระบุว่า "ทำไมเด็กคลอดก่อนกำหนด ถึงตาบอดได้ ถ้าไม่ได้รับการตรวจตา"

และในบทความได้ให้คำนิยาม : เด็กเกิด คลอดก่อนกำหนด หมายถึง คลอดก่อนครบ 37 สัปดาห์



ในเด็กคลอดก่อนกำหนด อาจทำให้มีปัญหาเรื่อง ตาบอดตามมาได้ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุมาจาก โรคจอประสาทตาผิดปกติ ในทารกเกิดก่อนกำหนด (retinopathy of prematurity: ROP) โดยปกติจอตา จะเจริญเติบโตเต็มที่ ตอนเด็กอายุ 40 สัปดาห์ แต่หากคลอดก่อนกำหนด จอตา อาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ เกิดจอตาลอกหลุดได้ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ตาบอดถาวรได้ ทารกที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่

1. อายุครรภ์น้อยกว่า หรือเท่ากับ 30 สัปดาห์

2. น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า หรือเท่ากับ 1,500 กรัม

3. มีความเจ็บป่วยร่วม เช่น ซีด, มีปัญหาโรคปอด, มีภาวะตัวเหลือง


หมายเหตุ : ภาวะจอตา.. ลอกหลุด และตาบอด ไม่เกี่ยวกับการส่องไฟ เพื่อรักษาอาการตัวเหลือง แต่อาจส่งผล ต่อการนอนหลับของเด็ก แพทย์จะทำการปิดตาเด็ก ช่วยให้เด็กนอนหลับได้ ตัวเลขอาจมีความแตกต่าง ในแต่ละโรงพยาบาล

และในเด็กคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะคัดกรองเฉพาะเด็ก ที่มีภาวะเสี่ยง ไม่ได้ตรวจตา ในเด็กคลอดก่อนกำหนดทุกคน โดยจะพิจารณาตรวจตา ในเด็กที่มีความเสี่ยง โดยแต่ละโรงพยาบาล มีเกณฑ์แตกต่างกัน แล้วแต่กุมารแพทย์ และจักษุแพทย์ ตกลงร่วมกัน หากตรวจพบความผิดปกติ ของจอตาส่วนใหญ่ สามารถหายได้เอง แต่ประมาณไม่ถึงร้อยละ 10 - 20 อาจต้องได้รับการรักษา และควรได้รับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมง หลังตรวจพบ เพราะอาจเกิดจอตาลอกหลุด ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร




#การตรวจ จอตา ?

จะตรวจในช่วง 4 - 5 สัปดาห์หลังคลอด หรือ อายุครรภ์ที่เกิด รวมกับ อายุเด็กปัจจุบันหลังคลอด รวมแล้วได้ประมาณ 31 - 34 สัปดาห์


#วิธีการตรวจตาในเด็ก ?

จักษุแพทย์ จะหยอดยาขยายม่านตา เพื่อตรวจจอตาในเด็ก


#จะสังเกตได้อย่างไร ลูกจอตาผิดปกติ ?

พ่อแม่อาจสังเกตได้ยาก ดังนั้นควรให้จักษุแพทย์ตรวจ และติดตามอาการ จนกว่าจอตาจะเจริญสมบูรณ์ดี โดยนัดตรวจทุก 1 - 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และระยะของโรค ในระยะยาว อาจเกิดจอตาลอกหลุดในอนาคต และต้อหินได้ แม้ได้รับการรักษาอย่างดีแล้ว ดังนั้นควรมาตรวจตา ตามนัดจนโต


#ระยะต่าง ๆ ของ โรคจอประสาทตาผิดปกติ ในทารกเกิดก่อนกำหนด มี 5 ระยะ ดังนี้

+ ระยะที่ 0 : ยังไม่มีความผิดปกติอื่น เพียงแค่จอตา ยังไม่เจริญสมบูรณ์ตามอายุ โดยเด็กแต่ละคน มีเวลาให้จอตา เจริญสมบูรณ์ไม่เท่ากัน ถ้าน้ำหนักขึ้นดี กินนมแม่ จอตาจะสมบูรณ์ได้ดีกว่า

+ ระยะที่ 1, 2 : ไม่อันตราย ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ตรวจนัด ติดตามเป็นระยะ

+ ระยะที่ 3 : รักษาได้โดยเลเซอร์ จี้ความเย็น ฉีดยาเข้าในวุ้นตา เพื่อให้เส้นเลือดผิดปกติ ฝ่อหายไป

+ ระยะที่ 4 - 5 : เกิดจอตาลอกหลุด ดังนั้นจำเป็นต้องผ่าตัด การมองเห็น อาจกลับมาได้ไม่สมบูรณ์ เด็กมีโอกาสสูญเสีย การมองเห็นถาวรได้ในอนาคต

นอกจาก การพิจารณาจากระยะของโรคแล้ว ต้องพิจารณาตำแหน่ง ของการเกิดโรคด้วย หากตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติ อยู่ใกล้ขั้วประสาทตา จุดรับภาพชัด อาจส่งผลต่อการมองเห็นมากกว่า จึงต้องรีบรักษามากขึ้น


#การรักษา มีทางเลือกอะไรบ้าง ?

1. การยิงเลเซอร์ : เลเซอร์ จะไปทำลายจอตา ในส่วนที่ไม่มีเส้นเลือดไปเลี้ยง เพื่อคงสภาพจอตา ที่เจริญไปแล้วไม่ให้แย่ลง ดังนั้น อาจทำให้การมองเห็นแคบลงได้ ติดตามประมาณ 1 - 2 เดือน จะพอเห็นผลว่า ตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่

ผลข้างเคียงที่พบได้ นอกจากมองเห็นได้แคบลง, มีสายตาสั้น, สายตาเอียง, สายตาเหล่ และอาจเกิดต้อกระจกได้ แต่เจอได้น้อยลง จากเทคโนโลยีพัฒนาได้มากขึ้น

#ข้อดี : เป็นวิธี ที่ใช้รักษามาอย่างยาวนาน รู้ผลข้างเคียงในระยะยาว

#ข้อจำกัด : โรคเป็นระยะรุนแรงมาก อาจใช้ไม่ได้ผล


2. การฉีดยาเข้าวุ้นตา : เพื่อลดการเกิดเส้นเลือดผิดปกติ

#ข้อดี : ได้ผลดี กับระยะโรคที่รุนแรง ที่เลเซอร์อาจใช้ไม่ได้ผล โอกาสเกิดสายตาสั้น เอียง น้อยกว่าเลเซอร์ และไม่มีการทำลายจอตา เหมือนเลเซอร์

#ข้อเสีย : เป็นวิธีการรักษา ที่ใช้มาประมาณ 5 - 6 ปี จึงไม่ทราบผลเสีย ในระยะยาวที่แน่ชัด ติดตามการรักษานาน และบ่อยกว่า กลุ่มเลเซอร์ ประมาณ 1 - 2 ปี

#ข้อควรระวัง

1. ต้องมาติดตามรักษา อย่างต่อเนื่อง

2. เรื่องพัฒนาการในเด็ก : จากการศึกษาใน 5 - 6 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่า การรักษาโดยการฉีดยาเข้าวุ้นตา จะส่งผลต่อด้านพัฒนาการของเด็ก แต่ต้องดูในระยะยาวต่อ

3. แผลติดเชื้อ อักเสบ ควรดูเรื่องความสะอาด แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ 2 วันแรกใส่ที่ครอบตา แต่โอกาสเกิดภาวะดังกล่าว ค่อนข้างน้อย

4. การผ่าตัด : จะพิจารณาในผู้ป่วย ที่เป็นมากแล้ว เพื่อรักษาให้จอตาติด แต่การมองเห็นในทารกหลังผ่าตัด อาจไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนปกติ




การเลือกแนวทางการรักษา จักษุแพทย์ จะประเมินร่วมกับ พูดคุยกับผู้ปกครอง ทั้งนี้ จะพิจารณาจากความปลอดภัย และความเหมาะสม กับทารกเป็นราย ๆ ไป

สำหรับ เด็กคลอดก่อนกำหนด แม้ไม่มีภาวะ จอตาผิดปกติ ยังจำเป็นต้องตรวจตา จนกระทั่งโต เนื่องจาก มีโอกาสเกิดสายตาสั้น เอียง หรือตาเหล่ผิดปกติ มากกว่าเด็กคลอดครบกำหนด ดังนั้นควรตรวจตาปีละครั้ง


#ขั้นตอน การส่งผู้ป่วย ถึงมือแพทย์เฉพาะทาง

การส่งต่อ เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดนั้น จะเริ่มจากกุมารแพทย์ และจักษุแพทย์ ติดต่อขอเตียง ว่างหรือไม่ อาจจะบริหารจัดการภายใน ระยะเวลาจำกัดได้ยาก นอกจากนี้ อาจต้องติดต่อ แพทย์วิสัญญีดมยา รวมทั้งพยาบาล และแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อร่วมการดูแลรักษา อาจต้องจอง และรอห้องผ่าตัด

ดังนั้น ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ พอสมควร แต่ตอนนี้ ระบบการสื่อสารในองค์กรดีขึ้น เพื่อให้เด็กรับการรักษาให้ทันเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา


Take home Message

1. การตัดสินใจการรักษา ขึ้นกับข้อจำกัด ความเสี่ยง ของสถานบริการต่าง ๆ

2. กุมารแพทย์ จะช่วยคัดกรองเบื้องต้น เวลาพาเด็กมารับวัคซีน และตรวจสุขภาพว่า ตามีความผิดปกติไหม

3. ให้ความสำคัญ กับการนัดติดตามการรักษา

4. มีบุตรเมื่อพร้อม ไปรับการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินความเสี่ยงกับสูติแพทย์

5. เฝ้าสังเกตพฤติกรรม การมองเห็นของลูก เพื่อช่วยจักษุแพทย์ ในการประเมินการมองเห็น ในระยะยาว


#ถามตอบ ปัญหาดวงตาของเด็กเล็ก...

Q : การได้รับออกซิเจน ตอนแรกเกิด ทำให้ส่งผลเสียต่อจอตา จริงหรือไม่ ?

A : การได้รับออกซิเจน เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรค แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ การเกิดก่อนกำหนด


Q : ในเด็กคลอดครบกำหนด ต้องตรวจตาไหม ?

A : ควรตรวจ เนื่องจาก เด็กเล็ก ไม่สามารถบอกอาการได้ว่า เห็นชัดหรือไม่ชัด อาจทราบว่า เห็นไม่ชัด ตอนเด็กโตมากขึ้นแล้ว ดังนั้นควรมาตรวจปีละครั้ง เด็กเล็กสามารถตรวจตาได้ โรคบางโรค เมื่ออายุ 7 - 8 ปีไปแล้ว จะรักษาเห็นผล ได้ไม่ดีเท่าที่ควร


Q : ถ้าคลอดเลยกำหนด ตา จะมีปัญหาไหม ?

A : ตาไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ของแม่และลูก


และสำหรับ เรื่อง ทำไมเด็กคลอดก่อนกำหนด ถึงตาบอดได้ ถ้าไม่ได้รับการตรวจตา อ้างอิงบทความโดย พญ.พรรณทิพา ว่องไว, เรียบเรียงโดย นศพ.ณิชารีย์ ศรีงาม จาก ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย


นอกจากปัญหาสุขภาพของเด็กน้อย ต่อภาวะการคลอดก่อนกำหนดแล้ว Backbone MCOT มีข้อมูลวิธีลดความเสี่ยงคุณแม่ เพื่อป้องกันการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จากหน่วยฝากครรภ์ งานการพยาบาลสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา เว็บไซต์ งานจัดการความรู้ ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาแนะนำ ดังนี้

1. ควรมาฝากครรภ์ทุกครั้ง ตามแพทย์นัด

2. พักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ทำงานหนัก หรือเดินทางไกล

3. ควรดื่มน้ำ วันละ 8 - 10 แก้ว เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นย้ำการรับประทาน ยาบำรุงเลือดอย่างสม่ำเสมอ

4. ควรงด หรือ เลิกสารเสพติดทุกชนิด

5. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ควรปัสสาวะทุก 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะได้

6. งดการมีเพศสัมพันธ์ ในรายที่เสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์ คลอดก่อนกำหนด

7. สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง เช่น มีท้องแข็ง หรือ มดลูกหดรัดตัว 3 - 4 ครั้งต่อชั่วโมง ให้นอนพักบนเตียงทันที แต่ถ้ามีอาการท้องแข็ง บ่อยมากขึ้น ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที

8. สังเกตสิ่งคัดหลั่ง ทางช่องคลอด ถ้ามีน้ำใส ๆ หรือ มีมูกปนเลือด ออกทางช่องคลอด ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที

9. ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายจิตใจ ลดความวิตกกังวล

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลของสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง ของการคลอดก่อนกำหนด, คำแนะนำอาการผิดปกติ ที่ควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัด, การให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ในรายที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสามารถเข้าไปอ่าน รายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เอกสาร :

(เอกสาร) : คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์ คลอดก่อนกำหนด
คลิก เพื่ออ่านเพิ่มเติม ได้ที่นี่ >> (คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะฯ คลอดก่อนกำหนด)



อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : หมอชวนรู้ โดย แพทยสภา
https://www.facebook.com/Morchuanroo

เว็บไซต์ : งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
https://www2.si.mahidol.ac.th/km



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)