X
มีอะไรบ้าง! ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 64-65

มีอะไรบ้าง! ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 64-65

2 ก.พ. 2565
2280 views
ขนาดตัวอักษร

..65 – เปิดฉากแล้ว งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 64 -65” งานเดียวที่รวบรวมสุดยอดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นฝีมือคนไทย กว่า 1,000 ผลงาน มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยแนวคิด “วิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต สู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างเราจะพาไปดู


นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดันนักวิจัยและนักประดิษฐ์ ให้ร่วมคิดค้นอย่างสร้างสรรค์ จนผลิตผลงานที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ที่จะยกระดับการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศ กับงาน “วันนักประดิษฐ์  ประจำปี 2564 - 2565 (Thailand Inventor’s Day 2021 & 2022) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2565  Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนากรุงเทพมหานคร


โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำทัพนักวิจัยนักประดิษฐ์ จากเครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ร่วมแสดงนวัตกรรมกว่า 1,000 ผลงาน ตามแนวคิด “วิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต สู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าผลงานสิ่งประดิษฐ์ไทยสู่สาธารณชน สร้างแรงจูงใจด้านการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศ


สำหรับ “วันนักประดิษฐ์” ปีนี้ ได้รวมผลงานประดิษฐ์คิดค้นจาก 2 ปี (..2564 2565) ที่หากได้เห็นต้องทึ่งในความสามารถของนักวิจัยไทย โดยจุดแรกไม่ควรพลาดกับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ชุด “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขเพื่อประชาชน” และนิทรรศการน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” 


จากนั้นเมื่อเข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ต้อนรับด้วยผลงานการันตีรางวัลจากทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น เครื่องบำบัดอากาศ ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย หรือ Big Blue O2 ที่ตอบโจทย์คนที่ต้องการดูแลสุขภาพ หากมองหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค สิ่งประดิษฐ์นี้ตอบโจทย์แน่นอน เพราะพกพาไปที่ไหนก็ได้ เพียงเปิดเครื่องระบบจะทำงานผลิตออกซิเจนไอออนบวก-ลบ ออกมา ผลที่ได้ไม่ได้เล็กแบบตัวเครื่อง สามารถจัดการกับฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ได้ทั้งหมด ไม่รอดประสิทธิภาพของเจ้าเครื่องนี้ไปได้ 


ขยับมาอีกนิดไม่ไกลกัน โดรนนับร้อยลำกำลังบินแปรอักษรอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นี่เป็นผลงานการวิจัยซอฟแวร์ฝีมือคนไทย ของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ที่พัฒนาให้โดรนแต่ละลำเคลื่อนที่ได้ตามที่ระบุไว้อย่างแม่นยำ แปรเป็นภาพ เป็นอักษร กลางท้องฟ้าหรือสถานที่ต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม 


ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การบริการจากโดรนในรูปแบบอื่น ทั้งช่วยงานด้านภัยพิบัติ หรืออยู่ในระบบขนส่ง ที่น่าจะได้รับความสนใจนำไปใช้มากขึ้นในอนาคต


นี่เป็นเพียงตัวอย่างผลงานประดิษฐ์คิดค้นฝีมือคนไทยที่มีคุณภาพ และไอเดียดีเยี่ยมไม่แพ้ชาติใด เพียงแต่รอการสนับสนุนจากผู้สนใจ และประชาชน ที่จะผลักดันในการวิจัยของคนไทยได้รับการต่อยอดขยับขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปให้ได้


นอกจากนี้ภายในงาน ยังแบ่งกิจกรรมออกเป็น 6 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 

1) ด้านความมั่นคง อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ทางการทหาร เครื่องมือสื่อสาร 

2) ด้านการเกษตรสร้างมูลค่า ได้แก่ เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ 

3) ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะการท่องเที่ยว หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภัณฑ์ ดิจิทัลการแพทย์ครบวงจร 

4) ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ อาทิ โภชนาการและสุขภาวะในช่วงปฐมวัย สื่อการเรียนรู้ ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล และดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ฯลฯ 

5) ด้านผู้สูงวัยและผู้พิการ 

6) ด้านนวัตกรรมสีเขียว เช่น การลดของเสียจากต้นทาง หมอกควัน การจัดการขยะมูลฝอย น้ำเสีย และของเสียอันตราย เป็นต้น รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 ผลงาน จาก 100 กว่าหน่วยงาน พร้อมด้วยนิทรรศการระดับนานาชาติ อีกจำนวน 200 ผลงาน จาก 24 องค์กร 20 ประเทศพันธมิตร ในรูปแบบ Online Event


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วชกล่าวว่า ภายในงานยังจัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน กว่า 400 ผลงาน ในโครงการ Thailand New Gen Inventors Award : I – New Gen 2021 โดยนักประดิษฐ์ที่สนใจต่อยอดผลงาน สามารถรับคำปรึกษาทางธุรกิจ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทักษะการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้ 


อีกทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อีกมากมาย เช่น กิจกรรม Steam 4 Innovator , Robot Car Kit , Mocrobit to Code , การฝึกอบรมวิชาชีพ และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อต่าง  ผู้สนใจสามารถร่วมชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


นอกจากนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทชเป็นประธานการลงนาม 


ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นการให้ความสำคัญในการลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและสถาบันความรู้ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม หนึ่งใน 7 ภารกิจสำคัญของ วชในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้และทักษะ ที่สอดคล้องกับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 


สร้างความรู้จากการวิจัยในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวงวิชาการของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของไทยที่มีคุณภาพสูง และช่วยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ


สำหรับความร่วมมือในโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยโครงการมีคุณลักษณะเฉพาะตัว ประกอบด้วย 1. มุ่งเน้นความเป็นเลิศ 2. ตั้งเป้าหมายท้าทาย 3. เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 4. ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และ 5. สร้างการเปลี่ยนแปลง

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)