พ่อเมืองนครพนม ชื่นชมอำเภอเรณูนคร
จัดประกวดคุ้มบ้าน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างแรงกระตุ้นในการพัฒนาตนเอง
พัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable
Village) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
.
วันนี้ (24 ก.ย. 66) นายวันชัย
จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า อำเภอเรณูนคร ได้ดำเนินการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน
(Sustainable
Village) อย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดให้มีการประกวดคุ้มบ้าน
ซึ่งเป็นหมู่บ้านเป้าหมายตามโครงการหนึ่งตําบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable
Village) โดยมีคณะกรรมการตรวจประเมินคุ้มบ้าน อันประกอบไปด้วย
ปลัดอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ลงพื้นที่ตรวจประเมินคุ้มบ้าน
.
นายวันชัย จันทร์พร
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า
จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable
Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริม
และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประสานกับพลัง "บวร"
(บ้าน วัด ราชการ) พร้อมทั้งบูรณาการภาคีเครือข่ายเชื่อมประสานให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ
เสริมสร้างสุขภาวะสังคมให้มีความมั่นคงปลอดภัยในด้านที่อยู่อาศัยและความมั่นคงทางอาหาร
ด้วยการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ดำเนินกิจกรรม "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน"
และ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต
เพื่อการพัฒนาสู่หมู่บ้านยั่งยืน ดังนั้น "นายอำเภอต้องเป็นผู้นำทีมอำเภอ
ทั้งทีมที่เป็นทางการ และทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย
ช่วยกันทำให้คนในหมู่บ้านรวมตัวกันเป็น "คุ้มบ้าน"
"กลุ่มบ้าน" "หย่อมบ้าน" เพื่อให้เกิดความใกล้ชิด
มีการดูแลกันแบบกลุ่มบ้านที่ใกล้ชิด ซึ่งในหมู่บ้านก็จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
เป็นเสาหลัก ร่วมกับข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล ทั้งปลัดอำเภอ เกษตรอำเภอ ฯลฯ ที่ต้องรู้หน้าที่
โดยทั้งทีมข้าราชการและทีมจิตอาสาทั้ง 2 กลุ่มต้องทำงานคู่ขนานเคียงข้างกันไป
ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันปรึกษาหารือ ร่วมกันทำ นำมาซึ่งการร่วมรับประโยชน์
อันเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร ได้ทรงสรุปผ่านการขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริทั้ง 4,741 โครงการ
ซึ่งต้องทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยประธานคุ้ม หัวหน้าคุ้ม
ชาวบ้านในทุกครัวเรือน ต้องมาพูดคุยกันในทุกเดือน ในทุกสัปดาห์
หรือในทุกวันได้จะยิ่งทำให้เข้มแข็ง
โดยมีปลัดอำเภอประจำตำบลเป็นผู้ประสานงานร่วมพูดคุยกัน" นายวันชัยฯ กล่าว
.
นายวันชัย จันทร์พร
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่ออีกว่า
การร่วมมือกันของทุกภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็งจริงจัง
ทำให้การดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
ยกตัวอย่างเช่น บ้านโนนสังข์ หมู่ที่ 4 ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม
ซึ่งต้องขอชื่นชมท่านนายอำเภอเรณูนคร นายภัทรชัย หาญวิศิษฏ์
พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย
ที่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น Change
for Good ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยการจัดให้มีการประกวดคุ้มบ้านเกิดขึ้นพื้นที่ ทั้ง 205 ครัวเรือน 9 คุ้มบ้าน
อาทิ คุ้มมั่งมีศรีสว่าง คุ้มตะวันเบิกฟ้า คุ้มยิ้มรับตะวัน
ซึ่งการประเมินในครั้งนี้เป็นการประเมินในรอบที่ 1
และกำหนดเป้าหมายตรวจประเมินในรอบที่ 2 ซึ่งเป็นรอบตัดสินในช่วงปลายเดือนตุลาคม
2566
“ขอให้ท่านนายอำเภอ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ทั้ง 12 อำเภอในจังหวัดนครพนม มาร่วมกันจัดประกวดคุ้มบ้าน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม โดยการประกวดประขัน เพราะการแข่งขันจะกระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบ เกิดความพยายามที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อให้ได้รับการคัดเลือก และพัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความรัก ความสามัคคี ให้ปกคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดนครพนม" นายวันชัยฯ กล่าวในช่วงสุดท้าย